วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553

Dhamma Talks and Chanting Club in VA.

For more information just click here
http://forum.thai-institute.com/forum/topics/why-is-chanting-important-to

Why is chanting important to the Buddhists? The connection between chanting and meditation.

"In the first place, it is a way in which the teachings of the Buddha are brought to mind. The chants represent a significant number of Buddhist texts that can teach as well as inspire.

Secondly, chanting is important because it effects the purification of the mind in two ways. Chanting purifies insofar as the words are a guide for banishing evil from the mind and directing thoughts toward the true and the good.... Chanting was taught by the Buddha as a direct route to Enlightenment. In this regard, chanting can help develop the perfections of morality, resolution, truthfulness and generosity.

Thirdly, chanting serves to provide a kind of emotional relief from troubles of daily life and contemporary society. In the way in which it can calm and focus the mind it is somewhat akin to the more powerful sitting meditation. Furthermore group chanting not only provides emotional relief but also a sense of belonging and common purpose as the chanters together engage in the purification of their minds together.

Fourthly, chanting is important because it is a way of paying respect to the Triple Gem, the Buddha, the Dhamma, and the Sangha - the Enlightened One, the Path to Enlightenment, and the Community of Monks. For instance, it is out of respect and humility that we fold our hands and bow three times, first to the image of the Buddha, then to the Dhamma and, finally to the Sangha."

บทความพิเศษ “บทบาทพระธรรมทูตไทยในต่างแดน”
โดย ดร.พระมหาถนัด อตฺถจารี
เลขาธิการสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา

พระพุทธศาสนาพันธุ์ใหม่ในอเมริกา (มุมมองของพระธรรมทูตไทย)

เมื่อพูดถึงความเจริญเติบโตของพระพุทธศาสนาในอเมริกา เราผู้ที่เป็นเจ้าของต้นตำหรับก็อดดีใจไม่ได้ เหมือนกับพ่อค้าแม่ขายที่นำเสนอสินค้าไปแล้วเป็นที่ถูกอกถูกใจของลูกค้า ติดตามซื้อกันอย่างโกลาหล โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพระธรรมทูต ผู้ที่ทำหน้าที่ประกาศและเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าสู่จิตใจของประชาชน ก็ยิ่งภูมิใจใหญ่เลยที่มีผู้นับถือพระพุทธศาสนามากขึ้น มีวัดและศูนย์ปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วสหรัฐอเมริกา

การที่พระพุทธศาสนาเข้ามาอยู่ในสังคมอเมริกันได้อย่างรวดเร็ว ก็อาจจะมีเหตุผลหลายประการที่เป็นสิ่งเอื้ออำนวยให้การแพร่ขยายของคำสั่งสอนไปถึงผู้นับถือได้อย่างรวดเร็ว เช่นการเดินทางด้วยรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบิน ซึ่งรวดเร็วกว่าการเดินเท้า และการใช้ล้อใช้เกวียนแบบสมัยโบราณอยู่แล้ว ยิ่งตอนนี้มีเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยและรวดเร็วยิ่งกว่ากระพริบตาเสียอีก เช่น การส่งคลื่นวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร และอินเตอร์เน็ต เวปไซด์ ไปรษณีย์อีเล็คทรอนิค(อีเมล์) ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องมือในการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนได้ทั้งสิ้น
นอกจากนั้นกระแสความนิยมพระพุทธศาสนาในอเมริกาก็มาจากตัวอย่างผู้คนในสังคมหลักที่ทำหน้าที่สื่อสารกับมวลชน เช่นพวกดาราภาพยนตร์ฮอลลีวูด ที่หันมานับถือพระพุทธศาสนา นักกีฬา นักดนตรี ที่มีชื่อเสียงและผู้คนอื่น ๆ ที่มีหน้ามีตาในสังคมอเมริกันประกาศตัวเป็นชาวพุทธ ล้วนแต่เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ให้พุทธศาสนาโดงดังขึ้นมาอย่างรวดเร็ว การนับถือพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นแฟชั่นเท่านั้น แต่เป็นการแซกซึมเข้าไปอยู่ในกระแสหลักของสังคมและวัฒนธรรมอเมริกันเสียแล้ว

ความภาคภูมิใจของชาวพุทธเอเซีย กับการขยายตัวของผู้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างรวดเร็ว และการที่เราจะฝากความหวังไว้กับสังคมอเมริกันให้ดูแลพระพุทธศาสนานั้น เป็นสิ่งที่เราควรจะนำมาวิเคราะห์ ตามหลักจิตวิทยา และในแง่สังคมแบบบริโภคนิยม และวัตถุนิยมสูงแบบคนอเมริกันคิด ชาวพุทธเอเชียอาจจะนึกไม่ถึงว่า มีจำนวนชาวอเมริกันไม่น้อยที่คิดว่า ตนเองเป็นชาวพุทธที่ดีกว่า จริงใจกว่า รู้เรื่องมากกว่าชาวเอเชียด้วยซ้ำไป เหตุผลที่เขากล่าวเช่นนี้ก็คงเป็นเพราะมาจากวัฒนธรรมพื้นฐานของคนอเมริกันที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากอำนาจทางเศรษฐกิจ การทหาร และการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก บวกกับนิสัยลึก ๆ ที่ติดตัวมาก่อนแล้วเรื่องการ เหยียดผิว และทนงตนว่าเป็นชาติอารยธรรมกว่าชาติอื่น ๆ ในโลก
พระพุทธศาสนาแบบอเมริกันสไตล์จึงเกิดขึ้น ถึงแม้จะยังไม่ประกาศเป็น ลัทธิ หรือ เป็นนิกายที่ชัดเจนก็ตาม แต่แนวคิด และแนวทางปฎิบัตินั้นบ่งบอกออกมาในลักษณะเฉพาะตัว เช่น การไม่เน้นเรื่องการทำบุญให้ทาน เผื่อแผ่เจือจานแบบสังคมพุทธในทวีปเอเชีย สังคมอเมริกันมีอุดมคติว่า ทุกคนต้องช่วยตัวเอง ไม่ควรจะพึ่งรัฐ หรือผู้อื่นมากจนเกินไป และความคิดที่ว่า ไม่มีคำว่าฟรีในสังคมวัตถุนิยม ทำให้มีกลไกทางการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องในสังคมพุทธของชาวอเมริกันมากขึ้น เช่มเมื่อมีการตั้งสำนักปฏิบัติธรรมขึ้นมาแล้วก็จะมีการโฆษณาตัวเอง เหมือนสินค้า หรือ การขายบริการ ซึ่งถ้าคิดดูให้ดี ๆ แล้วก็ไม่ต่างไปจากโรงแรม หรือสถานเริงรมย์ทั้งหลาย ถึงแม้จะไม่ทำในลักษณะที่น่าเกลียดเกินไปก็ตาม

สังคมอเมริกัน เป็นสังคมปัจเจกชนมากเกินไป ซึ่งทำให้พระพุทธศาสนาแบบอเมริกันเน้นหนักที่ตัวบุคคลอย่างแรงกล้า อาจจะทำให้ขาดมิติแห่งชุมชนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หรือ ที่เรียกว่า “สังฆะ” และอีกอย่างหนึ่งชาวพุทธอเมริกันบางกลุ่มยังปฏิเสธเรื่องการบวช อาจจะเป็นเพราะกลุ่มแรกที่เข้าไปศึกษาพระพุทธศาสนาสนใจแต่ในเรื่องปรัชญา และการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จึงไม่ค่อยสนใจในเรื่องของนักบวชและพิธีกรรม เขามีความเห็นว่าการศึกษาพระพุทธศาสนา และการปฏิบัติทางจิต ไม่จำเป็นต้องถือเพศบรรพชิต บางครั้งถ้าเรามองไปเฉพาะที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนาก็ลงมือปฏิบัติได้เลย ไม่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมมากนัก แต่ว่าต้นไม้ใหญ่นั้นก็ต้องมีทั้งเปลือกและแก่น ถ้าไม่มีเปลือกห่อหุ้มแก่นก็อยู่ไม่ได้ จะเห็นว่าในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา การบวชเป็นสถาบันหนึ่ง หรือ เป็นพุทธบริษัทหนึ่งที่พระพุทธองค์ฝากพระพุทธศาสนาไว้ให้ช่วยกันจรรโลงและเผยแผ่ เพราะว่ามีนักบวชนี่แหละ จึงทำให้สามารถรักษาคำสั่งสอนและวิถีชีวิตแบบพุทธเอาไว้ได้จนตราบเท่าทุกวันนี้

หันมามองพุทธศาสนาแบบไทยในอเมริกา
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งธรรมทูตศาสนาแรกของโลก แต่พระธรรมทูตในพระพุทธศาสนาไม่ต้องการที่จะไปเปลี่ยนศาสนา หรือ ความเชื่อของใคร หากแต่ประสงค์เพื่อที่จะแบ่งบันความสุขสงบร่มเย็นภายในให้แก่เพื่อนร่วมโลก คือ เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทุกคน
งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบไทย ได้เริ่มขึ้นไม่นานคือประมาณ ๓๐ กว่าปีมานี้เองที่ได้มีการสร้างวัด และศาสนสถานขึ้นมาในชุมชนคนไทยตามรัฐต่าง ๆ ทั่วอเมริกา และงานเผยแผ่ หรือ วัตถุประสงค์ในการสร้างวัดในยุคแรกก็เพื่อสนองความต้องการของชุมชนเท่านั้น เรียกว่าพระสงฆ์มาทำหน้าที่รักษา “ศรัทธา” ของชาวพุทธที่ต้องการที่จะมีวัด หรือ มีพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้แก่ชุมชนนั้น ๆ และก็เป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ยังไม่เป็นระบบ แม้แต่การคัดเลือกพระธรรมทูตที่จะให้มาปฏิบัติศาสนกิจก็เดินทางมาตามครูบาอาจารย์ที่เคยมาอยู่ก่อนแล้วเท่านั้น ไม่ได้คัดสรรคุณภาพ หรือ ความต้องการของชุมชน

งานอบรมพระธรรมทูตอย่างเป็นระบบได้เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และกรมการศาสนา จัดเป็นหลักสูตร อบรมพระสงฆ์ที่ต้องการจะไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ และต่อมาได้พัฒนาหลักสูตรและวิธีการสอบคัดเลือก เพิ่มกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากมายจนได้พระธรรมทูตในอุดมคติ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้อบรมผ่านไปแล้ว ๑๕ รุ่น
งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยพระธรรมทูตรุ่นใหม่ก็ยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้า และผลที่ได้รับยังไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าที่ควร เพราะเกิดจากปัญหาและอุปสรรคหลาย ๆ อย่าง และประเด็นหลักก็เพื่อรักษาศรัทธาของคนชาติเดียวกันมากกว่าที่จะมุ่งเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวต่างชาติ และส่วนใหญ่ในการสร้างวัด เพื่อประะกอบพิธีกรรมให้กับคนไทย หรือ ชาวพุทธที่นับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ลาว เขมร เวียตนาม จีน และวัดไทยในชุมชนคนไทยในต่างแดนกลับทำหน้าที่เพื่อเป็นตัวแทนแห่งวัฒนธรรมไทย แทนที่จะนำหลักธรรมเข้าสู่จิตใจอย่างลึกซื้ง
อยากจะขอนำคำพูดของครูบาอาจารย์หัวหน้าโครงการพระธรรมทูต มจร.ของเราที่เคยให้ฉายาพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกาว่า “พระธรรมทูตแบบกระทิงแดง” หมายความว่า พระธรรมทูตที่มาทำหน้าที่ส่วนใหญ่จะสนองความต้องการของคนไทย และคนเอเชียเท่านั้น เหมือนเครื่องดื่มชูกำลังชนิดหนึ่งยี่ห้อ กระทิงแดง มีการโฆษณาว่า เดี๋ยวนี้มีการส่งขายทั่วโลก แต่ปรากฏว่าผู้ที่ซื้อดื่ม ก็คือคนไทย และคนที่อพยพไปจากเอเชียด้วยกัน ประชาชนเจ้าของถิ่น เจ้าของประเทศเขาไม่ซื้อดื่มกันเท่าไร

ส่วนพระธรรมทูตในอุดมคติ และเป็นที่หวัง ที่พึงปรารถนา คือ พระธรรมทูตแบบ “ต้มยำกุ้ง” หรือ พระธรรมทูตแบบ “ผัดไทย” คือสามารถทำงานเผยแผ่กับชาวบ้านท้องถิ่นได้ คือมุ่งที่เจ้าของประเทศไม่ว่าจะเป็นอเมริกัน หรือ ยุโรป ก็ตามได้เห็นคุณค่า และนำหลักธรรมของพระพุทธศาสนาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ นั่นแหละจึงจะเป็นเหมือนคนไทยที่มาตั้งร้านอาหารไทยในต่างแดน แล้วโฆษณาอาหารไทย โดยเฉพาะต้มยำกุ้ง หรือ ผัดไทย ให้ฝรั่งได้รู้จัก ซึ่งเป็นอาหารโปรดของชาวอเมริกัน และซื้ออาหารไทย(แพง ๆ) กินกันอย่างติดอกติดใจ อยากจะเห็นพระธรรมทูตไทยทำงานในเชิงรุก (ไม่ใช่ไปเปลี่ยนศาสนาเขา) แต่นำความสุขไปให้เขาได้ ความจริงสังคมอเมริกันก็มีปัญหาทางด้านจิตใจมาก ถ้าเขาได้ลิ้มรสพระธรรม จนสามารถแก้ทุกข์ได้ ก็นั่นแหละพระพุทธศาสนาจึงจะแทรกเข้าไปสู่จิตใจ และเข้าสู่สังคมอเมริกันได้อย่างผสมกลมกลืน
นี่เป็นมุมมองหนึ่ง เป็นทัศนะส่วนตัวในฐานะที่เป็นพระธรรมทูตอยู่อเมริกามา ๑๘ ปีได้ทำงานตามหน้าที่สนองงานคณะสงฆ์ไทย และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ตามความสามารถอันน้อยนิด แต่ก็ภูมิใจในตัวเองอย่างน้อยก็ได้นำธรรมะมาสู่ดินแดนส่วนนี้มาจุดประกายไว้ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลัง พระธรรมทูตรุ่นใหม่ได้มีกำลังใจได้สานต่อซึ่งปณิธาณของครูบาอาจารย์ที่ท่านได้เริ่มไว้ดีแล้ว ได้สร้างชุมชนไทยให้มั่นคงโดยมีวัดไทยเป็นศูนย์กลางสืบไป.