วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2553

พระธรรมทูตไทยในต่างแดน

บทความพิเศษ@ธรรมะทูโก
เหลียวหน้า แลหลัง ที่มาของพระพุทธศาสนาในอเมริกา (ตอนที่ ๑)


การดำเนินชีวิตของคนอเมริกันนั้นได้ให้โอกาสแก่คนทุกคน จนกล่าวได้ว่าเป็นดินแดนที่ทุกคนจะประสบความสำเร็จได้ คนอเมริกันจะยกย่องคนเก่ง ความมีความรู้ ความสามารถ และให้เกียรติแก่ผู้ชนะ ในสายเลือดของคนอเมริกันนั้นนอกจากจะมีแนวคิดในความเท่าเทียมกัน การให้โอกาส การมีเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยแล้ว เราไม่อาจจะมองข้ามปัญหาเรื่องการเหยียดผิดไปได้ เรายังมีความรู้สึกลึก ๆ เกี่ยวกับการมีชาติพันธุ์ เหมือนชาติอื่น ๆ

ประเทศอเมริกา ได้ชื่อว่าเป็น “เบ้าหลอม” ขนาดใหญ่มาเป็นเวลาช้านานแล้วเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ สืบเชื้อสายมาจากชนชาติต่าง ๆ ทั่วโลกที่อพยพเข้าไปตั้งรกรากอยู่ในผืนแผ่นดินที่กว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้

ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๗ – ๒๕๒๕ ได้มีการอพยพโยกย้ายของประชากรเป็นจำนวนมากจากประเทศแถบอินโดจีน อันเนื่องมาจากภัยสงคราม ของลัทธิคอมมิวนิสต์ เช่นจากประเทศลาว เขมร และเวียตนาม เป็นต้น ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศโลกที่สาม ที่รับผู้อพยพจากประเทศเหล่านั้น เข้ามาอาศัยอยู่และทำมาหากินตั้งหลักปักฐานในดินแดนแห่งเสรีภาพนี้ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้ให้สิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีวิต และนับถือศาสนา

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนา จึงมีการตื่นตัวขึ้นในกลุ่มผู้นับถือ โดยเฉพาะชาวเอเชียกลุ่มใหญ่ที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ เมื่อมีงานทำ มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแล้ว ก็หันมาให้ความสนใจกับการสร้างศูนย์รวมจิตใจ นั่นคือการสร้างวัดในทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน อย่างเช่นวัดไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นวัดแรกในเขตนครหลวงวอชิงตัน และปริมณฑล นอกจากวัดศรีลังกา แล้วก็มีวัดลาว วัดเขมร ตามมา และสร้างวัดไทยตามมาอีกหลายวัด

ความจริงชาวอเมริกันรู้จักพระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการมาเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว ตั้งแต่มีการประชุมสภาศาสนาโลกครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๙๓ ที่นครชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ประกาศคำสอนในทางพระพุทธศาสนา เป็นครั้งแรก โดยท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ชาวพุทธศรีลังกา ในท่ามกลางผู้นำศาสนาทั่วโลก ทำให้ชาวอเมริกัน และชาวโลกรู้จักพระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการ ผลจากการประชุมในครั้งนั้นทำให้ชาวอเมริกันหันมาให้ความสนใจกับพระพุทธศาสนามากขึ้น โดยเฉพาะชาวอเมริกันจะรู้จักพุทธศาสนาแบบเซน ในยุคแรกได้ศึกษาจากอาจารย์เซนชาวญี่ปุ่นที่เกาะฮาวาย และเมืองซานฟรานซิสโก ต่อมาเมื่อมีการอพยพของชาวพุทธทิเบต นำโดยท่านองค์ทะไล ลามะ ได้หลบหนีภัยสงครามจากการที่ประเทศทิเบตถูกประเทศจีนเข้ายึดครอง ทำให้พระพุทธศาสนามหายาน แบบ “วัชรยาน” กลับได้รับความสนใจจากชาวอเมริกันเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากความเห็นอกเห็นใจชาวอพยพ และพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเสรีภาพทางความคิด จึงค่อนข้างจะถูกจริตของชาวอเมริกันที่รักสันติภาพ และ สิทธิเสรีภาพอย่างมากทีเดียว

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของชาวทิเบตที่เป็นรูปธรรมที่สุดในสหรัฐอเมริกา ด้วยการตั้งสถาบันการศึกษาที่ชื่อ “นโรปะ” โดยท่าน ชกยัม ทรุงปา ริมโปเช นำลูกศิษย์ชาวอเมริกันตั้งขึ้นที่เมืองบอร์ดเดอร์ รัฐโคโลราโด เป็นสถาบันที่ไม่จำกัดลัทธิความเชื่อ หรือศาสนาที่ตนนับถือมาก่อน ใครจะเข้ามาศึกษาก็ได้ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทัศนคติ เรื่องจิตวิญญาณของชาวตะวันตก และความเชื่อแบบพุทธปรัชญาตะวันออก นับเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๗๐ เป็นต้นมา ปัจจุบันนี้ได้ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยนโรปะ มีนักศึกษา เป็นหมื่น และมีสอนพระพุทธศาสนาถึงระดับปริญญาเอก

ในยุคเดียวกันนี้ศาสนาพุทธแบบเถรวาท(หีนยาน) ก็ได้รับความสนใจจากชาวอเมริกันมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยมีผู้นำหลักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแบบอานาปาณสติภาวนาที่มีมาในมหาสติปัฎฐานสูตร เข้าไปสอนเป็นหลักสูตรในคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซท (Program of the stress reduction) By Dr. Jon Kabat Zinn โครงการนี้ได้นำไปใช้ในการบำบัดรักษาโรคทางกายและทางจิตใจ

ส่วนในการเผยแผ่ธรรมะนั้น มีการสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรม โดย แจ๊ค คอนฟิลด์ และ โจเซฟ โกลด์สตีน ทั้งสองคนเคยเป็นอาสาสมัคร Peace corps ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะ แจ๊ค คอนฟิลด์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในสำนักวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ภายใต้การอบรมสั่งสอนของหลวงปู่ชา สุภทฺโท พระนักปฏิบัติที่มีชื่อเสียงจนชาวต่างชาติหลั่งไหลมาปฏิบัติกับท่าน ได้ลูกศิษย์ไปสร้างวัดในต่างประเทศมากมาย จนถึงทุกวันนี้ ส่วน โจเซฟ โกลด์สตีน นั้นไปอุปสมบทเป็นพระปฏิบัติกับอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐานที่ประเทศพม่า แล้วกลับมาสร้างสำนักปฏิบัติร่วมกับแจ๊ค คอนฟิลด์ ชื่อสถาบัน แบร์ ในรัฐแมสซาชูเซทส์ สอนการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแบบเถรวาท มีผู้สนใจเข้าไปศึษาเป็นจำนวนมาก และนับวันก็จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องขยายสาขาไปที่เมืองซาน ฟรานซิสโก ชื่อ Spirit Rocks

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ในยุคนี้พระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานลงในดินแดนอเมิรกานี้แล้วครบทั้ง ๓ ยาน คือ มหายาน(แบบจีน-ญี่ปุ่น) วัชรยาน (แบบทิเบต) และ หีนยาน (เถรวาท) ทำให้ชาวอเมริกันเลือกปฏิบัติได้ตามความต้องการ และพื้นฐานของความเชื่อศรัทธาในแต่ละบุคคล พระพุทธศาสนา เหมือนกับสินค้าตัวเลือกในในสังคมอเมริกัน ที่จะสรรหามาบริโภค ให้ถูกกับจริตและความต้องการของตนเอง..และมีชาวพุทธ(เดิม) หลายท่านเป็นห่วงว่า พระพุทธศาสนาจะกลายพันธ์หรือเปล่า ?

Haiti นรกบนดิน

กวีธรรม@ธรรมะทูโก
โดย Dhammaton





ดูสไลต์ ใจสลด ศพเฮติ
ร่างศพปริ ปูนทับ นอนหลับใหล
ตายเกลื่อนกลาด ปราศวิญญ์ สิ้นขาดใจ
ช่างโหดร้าย ปฐพี นี้ทำลง


แผ่นดินเจ้า เขยื้อน เหมือนโกรธหนัก
ตึกที่พัก พังยับ พับผุยผง
ฝากซากปูน ฝุ่นไว้ ให้โลกงง
ฝากพิษสง ความอดอยาก พรากชีวิญญ์


ฝากร่างศพ เกลื่อนกลาด ไม่อาจนับ
นอนตายทับ ถมเทิน เกินถวิล
ต้องใช้รถ ไถถม ให้จมดิน
ฝากไอกลิ่น ซากศพ นอนซบกัน


ฝากเสียงครวญ โหยไห้ อาลัยรัก
ฝากที่พัก กลางดิน ถิ่นโศกศัลย์
ฝากเสียงร้อง อย่างมืดมล ระงมงัน
ฝากความฝัน อันเคว้งคว้าง บนกลางดิน


ทุกหย่อมหญ้า จราจล คนอดอยาก
สุดอนาถ แย่งอาหาร ปานถวิล
น้ำข้าวหมด คนพล่าน อยู่กลางดิน
ชีวิตสิ้น เกิดกรียุค ทุกคนตรม


ธรณี นี้ใย ทำได้ยับ
สุดจะนับ ความวอดวาย ให้สาสม
ชาวเฮติ กลืนน้ำตา คราระทม
สุดจะข่ม ความอาลัย ได้เอ่ยกลอน


ขอวิญญาณ เฮติ ที่จรจาก
ปูนกระชาก ปราศวิญญ์ สิ้นเสื่อหมอน
จงปราศทุกข์ สุขสมหวัง นิรันดร
ขอจบกลอน ย้อนเฮติ เท่านี้เอย

ธรรมะเกี่ยวกับความตาย

"อนิจจา วะตะ สังขารา อุปปาทะวะยะธัมมิโน

อุปปัชชิตะวา นิรุชชันติ เตสัง วูปสโม สุโข"


แปลรวมความว่า

อนิจจา สังขาร ไม่เที่ยงหนอ
มีเกิดก่อ พังยุบ บุบสลาย
ครั้นเกิดแล้ว ไม่จีรัง พังทะลาย
การเข้าไป ดับสังขาร พานสุขจริง
.......................................
อะจิรัง วะตะ ยัง กาโย ปะฐะวิง อะธิเสสะติ
ฉุฑโฑ อะเปตะวิญญาโณ นิรัตถัง วะ กะริงคะรัง

แปลรวมความว่า

ไม่นานหนอ กายนี้ จะนอนนิ่ง
กายจะทิ้ง ตนลงแคร่ นอนแผ่หรา
บนกองซาก กากดิน ถิ่นพสุธา
ปราศวิญญาณ์ ดุจท่อนไม้ ไร้คนมอง
........................................

ดูวีดิโอเกี่ยวกับHaiti

Dhamma@ToGo ทำไมต้อง ธรรมะ@ทูโก

ธรรมะสวัสดีครับ


ก่อนอื่นต้องขออนุญาตได้กล่าวคำทักทายแบบไทยๆ ที่ฟังทีไร ชื่นหัวใจตลอดเวลา

ถือเป็นครั้งแรกครับที่เราได้มีโอกาสพูดคุยแนะนำตัวให้รู้จักกัน จึงขอใช้เวทีนี้ได้บอกกล่าวเล่าขาน ถึงความเป็นมาของเราให้ทราบกัน


Dhamma@ToGo เป็นนิตยสารธรรมะออนไลน์น้องใหม่ครับ หวังจะเข้ามารับใช้ท่านผู้อ่านในบรรณพิภพยุคไฮเทคเช่นนี้ ด้วยเราตระหนักดีถึงคุณค่าของ "ธรรมะ" ที่ถือเป็นกุญแจหลักในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะสุข จะทุกข์ ดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ เหล่านั้นคือสภาวะอย่างหนึ่งที่มี "ธรรมะ" เป็นส่วนประกอบ โอกาสนี้เราจึงรวมตัวกันในนาม ธรรมะ@ทูโก ออกมารับใช้ท่านผู้อ่าน ด้วยบทความธรรมะร่วมสมัย

ในบทความแต่ละชิ้นที่ ธรรมะ@ทูโก จะได้นำเสนอนั้นก็ล้วนแล้วแต่มาจากปลายปากกาที่คมคาย จากประสบการณ์ที่บ่มเพาะมานาน ของนักเขียนแต่ละท่าน ซึ่งจะมาบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ อย่างครบรสให้ท่านได้เลือกเสพกันได้ตามสไตล์ความชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราเน้นที่ความสะดวกสบาย เสิร์ฟให้ถึงที่ ง่ายต่อการอ่าน ส่งตรงถึงเมล์บ๊อกซ์ของทุกท่าน ดังสโลแกนที่ว่า "Dhamma@ToGo วารสารธรรมะออนไลน์ ที่ให้คุณถึงโลก ถึงธรรม"

ตัวอย่างคอลัมน์ภายใน ธรรมะ@ทูโก ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงชื่อได้ครับ

๑.จากใจ บก.@ทูโก โดยพระมหาปิยะ

๒. ของฝากจากพระธรรมทูต โดย พระมหาดร.ถนัด

๓. ธรรมะ@เอ็กซ์เพรส นำเสนอสถานการณ์โลกในมุมมองของธรรมะ แบบด่วนๆ

๔. สุขภาพ สมุนไพร โดย พระครูวินัยธรทูลถวาย

๕. กวีธรรม โดยพระมหาทองสมุทร

๖. ชาดกธรรม โดย พระมหาสากล

๗. ของดีจากอเมริกา โดย พระมหาปิยะ

๘. ธรรมะบันเทิง โดย พระมหาณันท์มนัส

๙. ธรรมะจัง โดย พระมหามนูเชษฐ์

๑๐. ท่านถาม-เราตอบ โดย พระมหาณันท์มนัส และพระครูวินัยธรทูลถวาย

๑๑. สนามนักคิด โดย นักเขียนอิสระ


เหล่านี้คือคอลัมน์คร่าวๆ ที่จะมีใน Dhamma@ToGo ซึ่งอาจจะลดหรือเพิ่มก็ต้องรอดูฉบับเต็มๆ ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ ที่จะถึงนี้ครับ ตอนนี้ต้องขอถือโอกาสเป็นการฉายหนังตัวอย่างให้ชมกันก่อนละกัน ส่วนเนื้อหาจะเข้มข้น คมคาย ล้ำลึก หรือกินใจเพียงใด ก็ขอให้ท่านได้เปิดพื้นที่ว่างสักเพียงเล็กน้อย รับ ธรรมะ@ทูโก ไว้อ่านสักฉบับ

เพียงแค่นี้ เราก็ได้กำลังใจอย่างมากมาย อันหมายถึงเชื้อเพลิงที่จะขับเคลื่อนให้ธรรมะได้เดินทาง รับใช้สังคมอย่างเท่าทัน สะดวก และรวดเร็ว


แล้วพบกันครับ

ธรรมะ@สวัสดี