วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วิสาขะบูชา วันพระพุทธเจ้า


เดือนพฤษภาคมนี้เป็นเดือนพิเศษของชาวพุทธทั่วโลก เพราะมีเหตุการณ์อันเกี่ยวข้องกับมหาบุรุษหรือพระพุทธเจ้าหลายประการ เหตุการณ์สำคัญนั้น คือ ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมแต่ต่างวาระหรือต่างปีกัน เป็นปรากฏการณ์ที่น่าอัศจรรย์สำหรับคนทั่วไปและในขณะเดียวกันก็น่าศึกษาค้นคว้าสำหรับผู้สนใจใฝ่รู้ เราเรียกกันว่า วันวิสาขะ หรือวันพระพุทธเจ้าก็ได้ ซึ่งต่อมาองค์กรสหประชาชาติประกาศให้วันวิสาขะเป็นวันหยุดสากล เพื่อยกย่องสดุดีพระพุทธเจ้าในฐานะผู้มีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวโลก




ชาวพุทธในอเมริกา เมื่อมาวัดมักจะนำลูกหลานมาด้วย มีเด็กคนหนึ่งมาวัดกับย่า ชอบเรียกพระว่า You are my Buddha สาเหตุที่เขาพูดอย่างนั้น เพราะย่าบอกให้ไหว้ และเรียกพระว่า Buddha ฟังครั้งแรกๆ ก็ตกใจเหมือนกัน เพราะชาวพุทธเมืองไทยจะไม่ใช้คำนี้พร่ำเพรื่อหรือจะไม่นำมาใช้กับคนทั่วไป ด้วยความเคารพยิ่งในพระรัตนตรัย แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ชี้แจงเรื่องนี้ให้เด็กคนนั้นทราบ ในประเทศทางตะวันตก คำว่า พุทธะ นั้น เป็นคำธรรมดาทั่วไปที่ทุกคนก็เอื้อมถึงหรือจะบอกว่าทุกคนสามารถเป็นพุทธะได้ แต่เมื่อคิดทบทวนกลับไปกลับมาทำให้ได้ข้อคิดเกี่ยวกับคำว่า พุทธะ ที่แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน การที่เด็กเรียกอย่างนั้นเพื่อเตือนสติให้เราเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบาน




ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์พีบีเอส(PBS)ของอเมริกา ได้เผยแพร่สารคดีที่น่าสนใจมากชื่อว่า พระพุทธเจ้า(The Buddha) มีความตอนหนึ่งที่พราหมณ์ถามพระองค์ว่า ท่านเป็นใคร ? มีครูชื่ออะไร เป็นเทวดาหรือมนุษย์ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า เราคือ พุทธะ (I am the Buddha) โดยความเห็นส่วนตัว เมื่อชมสารคดีชุดนี้แล้ว รู้สึกชื่นชอบวิธีการนำเสนอพุทธประวัติของผู้กำกับมาก ถ้าท่านเคยอ่านพุทธประวัติหรือเคยเรียนในชั้นเรียน หากได้ชมสารคดีชุดนี้ จะทำให้ท่านประทับใจวิธีการนำเสนอที่เข้าใจง่ายและน่าสนใจ ผู้เขียนได้แต่หวังว่า วันหนึ่งคณะสงฆ์หรือชาวพุทธจะสามารถทำสารคดีที่น่าสนใจได้อย่างนี้บ้าง เพราะยังมีบทเรียนที่เป็นประโยชน์อีกหลายอย่างในพุทธประวัติที่ควรนำเสนอต่อสังคม



กลับมาเข้าเรื่องวันวิสาขะบูชาที่กำลังจะมาถึงในไม่กี่วัน ชาวพุทธในประเทศอื่นๆ คงเฉลิมฉลองวันนี้กันอย่างยิ่งใหญ่ แต่ในประเทศไทยของเราที่เป็นเมืองพุทธ กลับมีเหตุการณ์ที่น่าเศร้าเกิดขึ้น มีคนมากมายเสียชีวิตหลง ถ้าจะพูดไปแล้วก็เพราะตัณหา มานะ และทิฐิของพวกเราเอง ศัตรูที่แท้จริงสิงอยู่ภายในจิตใจของพวกเรา หาใช่คนอื่นไม่ แต่พุทธะหรือตัวรู้ไม่ได้เกิดขึ้นแก่พวกเราเลย คิดไปแล้วก็น่าเสียใจที่เรามีพุทธศาสนาแต่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ เหมือนใกล้เกลือแต่กินด่าง ได้แต่หวังว่าในวันวิสาขะบูชาหรือวันพระพุทธเจ้านี้ พุทธะหรือตัวรู้จะเกิดขึ้นในดวงใจของพวกเราบ้างว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร
เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญ(ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน)ในวันวิสาขะบูชาสามารถสอนอะไรเราได้บ้าง มีสิ่งที่ชาวพุทธควรนำมาคิดไตร่ตรองสอนตนเองได้ ดังต่อไปนี้



ในเวลาประสูตินั้นพระองค์ได้เสด็จดำเนินไป 7 ก้าวพร้อมเปล่งวาจาว่า “เราเป็นผู้เลิศ ประเสริฐ และเจริญที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ใหม่มี” ผู้เขียนคิดว่า นี้คือการประกาศจุดมุ่งหมายในชีวิตของพระองค์ เหมือนเกิดมาแล้วกำหนดว่า เราจะเป็นอะไร และเดินไปทางไหน เราซึ่งมีชีวิตอยู่หลายสิบปีบนโลกใบนี้ เคยคิดกันบ้างไหม ถึงเป้าหมายในชีวิตว่า เราจะทำอะไร จะเป็นอะไร การประกาศจุดมุ่งหมายในชีวิตของพระพุทธองค์เมื่อแรกเกิดจึงเป็นสิ่งที่ควรศึกษาและนำมาปฏิบัติตาม



เหตุการณ์ก่อนการตรัสรู้ และหลังการตรัสรู้ก็เป็นสิ่งที่น่าศึกษาว่าเราจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง หลังจากตรัสรู้แล้วพระพุทธองค์ทรงอุทานว่า “เราได้ท่องเที่ยวไปในสงสารนับชาติไม่ได้ แสวงหาอยู่ซึ่งนายช่างผู้ปลูกเรือนคือตัณหา ดูก่อนในช่างผู้กระทำเรือน(กิเลสตัณฟา) เราพบเจ้าแล้ว เจ้าจะทำเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป ฯลฯ” เป็นเหมือนการที่พระองค์ทรงค้นพบตัวการใหญ่ที่สร้างปัญหาให้ชีวิตเรา มันสิงสถิตอยู่ภายในจิตใจของเรา การตรัสรู้เหมือนการค้นพบปัญหา คนเราก็เหมือนกันควรจะปลูกพุทธะหรือตัวรู้ขึ้นภายในจิตใจให้รู้ตัวทั่วพร้อมว่า กำลังคิด พูด และทำอะไรอยู่ โลภ โกรธ หรือหลง



เหตุการณ์สุดท้ายคือการดับขันธปรินิพพานหรือพูดภาษาชาวบ้านว่าตาย ก่อนปรินิพพานพระพุทธองค์ทรงตรัสเตือนเราถึงสัจธรรมของชีวิตว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความสิ้นไปและเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งจงอย่าประมาทเร่งทำกิจของตนให้ถึงพร้อมเถิด” คนเราเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่จงอย่าได้หลงระเริง เร่งทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น จะได้ไม่เสียใจในภายหลัง เวลาความตายที่ไม่สามารถรู้ได้ว่าเมื่อไหร่มาถึงจะได้ตายแบบสบายไร้กังวล



ขอให้พุทธะเจริญงอกงามในจิตใจของท่านทั้งหลาย ซึ่งพุทธะนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่เราต้องลงมือสร้างและทำขึ้นเอง เพราะนี้คือการบูชาที่สูงสุดที่ชาวพุทธควรทำบูชาพระพุทธเจ้าในเทศกาลวันวิสาขะบูชานี้ ฯ