วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553

ปลาหมอตายเพราะปาก

ตา มีหน้าที่ดูอย่างเดียว ธรรมชาติให้ มา ๒ ตา
หู มีหน้าที่ฟังอย่างเดียว ธรรมชาติให้ มา ๒ หู
จมูก มีหน้าที่ดมกลิ่นอย่างเดียว ธรรมชาติให้มา 2 รู
แต่ปาก มีหน้าที่ถึง 2 อย่างคือ ทั้งกินและพูด ธรรมชาติกลับให้มาเพียงปากเดียว แสดงว่า ธรรมชาติต้องการให้คนดูให้มาก ฟังให้มาก แต่ให้พูดน้อยๆ ให้มีสติคอยระมัดระวังปากให้มากนั่นเอง”
จากถ้อยคำที่น่าขบคิดข้างต้นนี้ บอกให้รู้ถึงความสำคัญของปาก ๒ อย่างคือ ๑. หน้าที่พูด ๒. หน้าที่กิน ซึ่งปากต้องทำเป็นประจำทุกวัน ถ้าหากวันหนึ่งๆ ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะรู้สึกอึดอัดมิใช่น้อย โดยเฉพาะคนทั่วๆ ไปที่ไม่เคยอบรมตนมาก่อน ถ้าไม่ได้พูดไม่ได้กินเป็นวันๆ ก็แทบจะเป็นบ้าไปเลยก็ได้ หน้าที่ทั้ง ๒ ต่างก็มีความสำคัญ เพียงแต่หน้าที่กินสำคัญกับตนเอง ส่วนหน้าที่พูดสำคัญทั้งกับตนและคนอื่น
หน้าที่กิน ปากของคนเรายังถือว่าเป็นนายของอวัยวะบางส่วนในร่างกาย ดังคำยืนยันในธรรมนิติว่า “อวัยวะ ๕ ส่วน คือ มือ เท้า ศีรษะ หลัง และท้อง ต้องยอมคำนับ และคอยรับใช้ปากทุกเมื่อ” เช่น มือคอยป้อนข้าว เท้าคอยเดินหา ศีรษะหลังท้องพร่องสักครา ก็เรียกหาปากวานขานให้ทำ ปากใช้ลำเรียงอาหารเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายให้มีเรี่ยวแรงมีกำลังในการทำงาน ในการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป ถ้าหากเราลำเรียงสิ่งไม่ดีเข้าไปก็ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมาหรืออาจถึงแก่ชีวิตก็เป็นได้ หรือถ้าบริโภคอาหารที่ดีแต่มากเกินเข้าไป ก็จะทำให้อึดอัดหรือเป็นสาเหตุแห่งโรคฮิตในปัจจุบันคือโรคอ้วนตามมาก็ได้ ดังนั้น เพื่อสุขภาพกายที่สมบูรณ์ทางออกที่ดีก็ต้องยึดหลัก โภชเนมัตตัญญุตา คือความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้องจนเกินไป
หน้าที่พูด ซึ่งเป็นหน้าที่ที่มีอิทธิพลยิ่งทั้งต่อคนพูดและคนฟัง และจะได้นำมาเจียระไนให้รู้ว่ามันมีประโยชน์และมีโทษต่อชีวิตอย่างไรบ้าง โบราณสอนนักสอนหนาและยังจัดอันดับปากไว้เป็นอันดับหนึ่ง ดังที่ว่า...ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรา... เพราะผู้มีปากเป็นเอก ก็คือผู้เป็นยอดของนักสื่อสารที่ดี มีวจีไพเราะ พูดเสนาะโสต เหมือนสุภาษิตไทยที่ว่า "พูดดีเป็นศรีแก่ปาก" นั่นเอง รองลงมาก็คือ เลขเป็นโท หมายถึงกระบวนการทำงานยังถือว่าเป็นรองการพูดจา อันดับต่อมา หนังสือเป็นตรี มีวิชาความรู้ดีก็ยังเป็นรองการพูด คือถึงจะเป็นคนมีความรู้สูง แต่ถ้าปากไม่ดีเสียแล้ว ย่อมหวังความเจริญในชีวิตได้ยาก อันดับสุดท้าย ชั่วดีเป็นตรา หมายถึงผลสัมฤทธิ์ของงานที่ดีและไม่ดี จะเป็นสิ่งเดียวที่ตราไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้กล่าวขานชื่นชมหรือประณาม
พระพุทธศาสนาบอกว่า ปากของคนเรานั้นมีอยู่ ๓ รส คือ เหม็น, หอม, และหวาน คนปากเหม็น เรียกว่า “คูถภาณี” ได้แก่ผู้ที่มีปกติพูดปดมดเท็จจนคนทั้งหลายเกลียดชัง ไม่เชื่อถือถ้อยคำ ยิ่งพูดยิ่งทำลายตนเอง คนปากหอม เรียกว่า “ปุบผภาณี” ได้แก่คนที่พูดจริง พูดคำสัตย์ ไม่โกหกพกลมแม้เป็นเรื่องเข้าข้างตนเองจนคนนิยมเชื่อถือถ้อยคำ คนปากหวาน เรียกว่า “มธุรภาณี” ได้แก่คนที่พูดไพเราะเพราะพริ้งนิ่มนวลชวนฟัง รื่นหู ดูดดื่ม จับใจ ฟังไม่รู้จักเบื่อ สุนทรภู่ บรมครูกวีของไทยได้ประพันธ์ถึงปากไว้อย่างจับใจว่า “อันรสปากหากหวานก็หวานเด็ด บอระเพ็ดก็ไม่มากเหมือนปากขม มีดว่าคมก็ไม่มากเหมือนปากคม รสหวานขมก็ไม่มากเหมือนปากคน”
นักปราชญ์ถึงกับยกย่องปากว่าเป็นยอดอาวุธ อาวุธใดๆ ในโลกนี้จะวิเศษเลิศล้ำไปกว่าอาวุธปากเป็นไม่มี เราจะใช้พูดให้คนเป็นหรือให้คนตายก็ได้ ดังกวีที่ว่า “อาวุธใดในพิภพไม่ลบปาก ถึงน้อยมากฟันฟาดขาดเป็นสิน จะเป็นตายดีร้ายจะขายกิน ในโลกสิ้นสามภพจบเจรจา”
คำพูดหรือวาจาของคนเรานั้น เป็นเสมือนดาบสองคม ถ้ารู้จักพูดก็สามารถทำศัตรูให้เป็นมิตรได้ ขณะเดียวกันถ้าไม่รู้จักพูดก็สามารถทำมิตรให้เป็นศัตรูได้ในชั่วพริบตาเช่นกัน อีกประการหนึ่ง คนเราจะประสบความสำเร็จได้รับความเจริญก้าวหน้าในชีวิตก็เพราะอาศัยวาจาที่ดีจากปาก แต่ก็เพราะวาจาชั่วที่ออกจากปากเพียงคำเดียวบางครั้งแม้แต่ชีวิตก็ยากจะรักษาไว้ได้ หรือไม่รู้จักสำรวมระวังปากพูดมากเกินไปไม่รู้จักกาลเทศะ ก็อาจนำพาตัวให้ฉิบหายได้ ดังเรื่องลูกหงส์กับเต่า เรื่องมีอยู่ว่า ในอดีตกาลมีเต่าอาศัยอยู่ในสระแห่งหนึ่งในหิมวันตประเทศ ลูกหงส์ ๒ ตัว ก็ไปเที่ยวหากินอยู่แถวนั้น ได้รู้จักกัน ลูกหงส์จึงชักชวนให้เต่าไปเที่ยวในถ้ำทองที่ภูเขาจิตตกูฏ เต่าฉงนใจว่าจะไปยังถ้ำทองบนภูเขาจิตตกูฏได้อย่างไร ลูกหงส์บอกว่าจะพาไปเอง แต่ขอให้เต่าระวังปาก อย่าพูดเป็นเด็ดขาด เต่าด้วยความอยากไปจึงตอบตกลงว่า แค่นี้เรื่องจิ๊บจ๊อย ลูกหงส์จึงให้เต่าคาบไม้ตรงกลาง ส่วนลูกหงส์คาบปลายไม้ตัวละข้าง บินไปในอากาศ เด็กชาวบ้านเห็นเข้าก็ตะโกนบอกกันว่า “หงส์หามเต่าๆ” เต่ารู้สึกคันปากมุมมิมๆ ก็เลยลืมตัวทั้งลืมคำสัญญาที่ให้ไว้กับลูกหงส์เสียสนิท จึงอ้าปากตะโกนตอบเด็กไปว่า “กงการอะไรของพวกเองว่ะ” แค่นั้นแหละเต่าก็หลุดร่วงจากท่อนไม้ ลอยละลิ่วปิวละล่องตกลงที่ท้องสนามหลวงในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพาราณสี กระดองแตกแยกเป็น ๒ ส่วน ตายสนิท
เรื่องนี้ชี้ให้เห็นชัดว่า การพูดไม่ถูกกาลเทศะมีแต่ให้โทษ เหมือนเต่าที่ต้องตายเพราะพูดไม่ถูกเวลา ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงเตือนให้ระวังว่า “วาจาย สํวโร สาธุ ระวังปากไว้ได้นั่นแหละดีที่สุด” และยังเป็นมงคลอันสูงสุดแก่ชีวิตอีกด้วย การนำเรื่องปากมาฝากไว้เป็นข้อคิดสะกิดใจเพื่อทุกท่านจะได้ระวังปากมากขึ้น อย่างน้อยๆ ก็ได้รักษาศีลข้อ ๔ ซึ่งตอนนี้สังคมไทยหรือสังคมโลกต่างขาดแคลนคนพูดคำสัตย์จริงกันทั้งนั้น ระวังปลาหมอจะตายเพราะปาก ปลาหมอมันพูดไม่ได้ แต่มันผุดขึ้นมาพ่นน้ำเหมือนเย้ยว่า กูอยู่นี่ๆ คนหาปลาจึงจับมันได้ ปลามีชีวิตยืนยาวอยู่ได้ก็เพราอาศัยปากเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็เพราะปากนั้นเอง ปลาจึงต้องติดเบ็ดเสียชีวิตโดยง่าย ในโลกนี้จึงไม่มีอะไรที่เย็นชื่นเหมือนการแย้มพรายของปากคนดี ขอยืนยันด้วยบทกวีนี้ส่งท้ายก็แล้วกันว่า
อันแก่นจันทน์เย็นชื่นในพื้นโลก แสงเดือนโกรกเย็นนั้นกว่าจันทน์หลาย ปากคนดีแช่มชื่นเมื่อแย้มพราย เย็นมากมายกลบเกลื่อนซึ่งเดือนเพ็ญ...