วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

ดวงตาเห็นธรรม

ดวงตาเห็นธรรม

กลับมาพบกันในฉบับที่สองนะครับ สำหรับบทความนี้ต่อไปจะใช้ชื่อว่า "ดวงตาเห็นธรรม" เพราะรู้สึกว่าจะตรงกับประเด็นที่ผู้เขียนอยากจะนำเสนอ นั่นคือบอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์/สถานการณ์โลกในปัจจุบันให้ท่านได้ฟังกันผ่านธรรมะ เปรียบเสมือนกับการมองโลกผ่านธรรม ซึ่งหากเราพิจารณาแล้วก็จะพบสัจจะที่อยู่ในแต่ละเหตุการณ์ โดยอาจจะทำให้เราเรียนรู้และเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เปรียบเสมือนกับการได้ดวงตาเห็นธรรม

ในช่วงไม่กี่วันมานี้ไม่ว่าเราจะเปิดทีวีช่องไหนในประเทศไทย ก็คงจะหนีไม่พ้นเหตุการณ์ความวุ่นวายของการเมืองภายในประเทศที่นับวันจะยิ่งยุ่งเหยิงไปกันใหญ่ จนหลายคนรู้สึกเบื่อหรืออาจจะเครียดโดยไม่รู้ตัว เพราะมันเกิดขึ้นใกล้ตัวเรามากถึงมากที่สุด ที่ว่าอย่างนี้ก็เพราะว่ามันเกิดขึ้นที่บ้านเกิดเมืองนอนของเราเอง ซึ่งในจุดนี้หากท่านอยู่ในต่างประเทศจะเห็นความรู้สึกนี้ได้ชัดที่สุด

ผู้เขียนจึงอยากจะนำเสนอวิธีการวิเคราะห์อารมณ์ของตัวเอง ในที่นี้จะไม่วิเคราะห์หรือให้ความเห็นเกี่ยวกับการเมืองหรือสิ่งเร้ารอบตัวเรา แต่จะนำท่านไปหาวิธีการจัดการความเครียด ความเบื่อหน่าย หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เกิดขึ้นว่าเราจะสามารถเรียนรู้อะไร และจะปฏิบัติตัวอย่างไรกับเหตุการณ์รอบๆ ตัวเราได้บ้าง ซึ่งผู้เขียนมีความเชื่อว่าอย่างน้อยก็คงจะช่วยเยียวยาหัวใจที่บอบช้ำของใครหลายๆ คนได้

แน่นอนครับ ณ เวลานี้แทบที่จะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสภาพจิตใจของประชาชนคนไทยในสภาวะเช่นนี้ย่อมมีความไม่ปกติสุขอยู่เป็นแน่แท้ เพราะปัจจัยหลายๆ อย่างทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง อันส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไม่มีข้อยกเว้นนะครับ ไม่ว่าจะเป็นลูกเด็กเล็กแดง นักเรียนนักศึกษา พ่อค้าประชาชน ข้าราชการทหารตำรวจ หรือแม้กระทั่งพระสงฆ์องค์เจ้าก็ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบไปตามๆ กันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป ซึ่งหากจะมองแล้วมันเป็นเหมือนปฏิกิริยาลูกโซ่ ที่รัดร้อยกันเป็นงูกินหาง ยิ่งสาวหาปลายก็ยิ่งวนไปไม่รู้จักจบสิ้น

ผลกระทบที่กล่าวถึงนั้นแน่นอนที่สุดทางด้านรูปธรรมย่อมที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็อาจจะด้านปัจจัยใช้สอย จากแต่ก่อนที่มีเงินทองใช้จ่ายได้สะดวกสบายก็กลับกลายหายพร่องไปบ้าง อันที่เคยเก็บออมเอาไว้ใช้จ่ายยามจำเป็นก็ต้องเอาออกมาใช้ บางท่านอาจจะตกงาน ไม่ว่าจะถูกบีบให้ออก หรือต้องปฏิบัติตามนโยบายของหน่วยงานที่ต้องปรับเปลี่ยนตำแหน่งแห่งหน เป็นต้น ซึ่งจริงๆ ปัญหาเหล่านี้มันไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น หากแต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตตลอดเวลา แต่อาจจะไม่รุนแรงเท่าในปัจจุบันเท่านั้นเอง ซึ่งผู้ที่สนใจใฝ่ศึกษาสามารถค้นคว้าได้ว่าปัญหาที่กล่าวถึงนั้นมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย ซึ่งจะผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวลึกลงไปในทุกรายละเอียด เพียงแต่อยากจะกล่าวสั้นๆ ให้เป็นประเด็นเพื่อจะได้คิดตามและมองเห็นปัญหาหรือสิ่งที่ผู้เขียนกำลังกล่าวถึง

เอาล่ะ ทีนี้เรามาว่ากันถึงผลกระทบที่สองที่เป็นนามธรรมที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ผลกระทบทางด้านจิตใจ อันจะเป็นปัจจัยให้เกิดสภาวะอารมณ์ที่แปรปรวน บางคนจากเคยอารมณ์ดีก็กลับเป็นคนอารมณ์บูดง่าย จากที่มีนิสัยมักโกรธ หรือเห็นอะไรขวางหูขวางตาไม่ได้เป็นต้องมีความรู้สึกหงุดหงิดตะขิดตะขวงก็กลับกลายเป็นว่าร้ายยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม อันนี้น่าจะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดสำหรับสภาพอารมณ์ของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน นั่นคืออยู่ร้อนนอนทุกข์

แต่ในขณะเดียวกันนะครับก็มีคนอีกจำพวกหนึ่งที่พยายามศึกษา เรียนรู้ หมั่นฝึกหัดปฏิบัติกาย วาจา ใจให้สำรวมระงับ จากภาวะสิ่งเร้าที่อยู่รอบตัวนั้นๆ ไม่ให้มีอำนาจอยู่เหนือจิตใจของตนเอง โดยอาจจะศึกษา ปฏิบัติธรรม ฟังธรรมบรรยายบ่อยๆ ฝึกบ่อยๆ ตามรู้ดูจิตด้วยรูปแบบวิธีการที่ครูบาอาจารย์ของแต่ละท่านได้สั่งสอนแนะนำ ก็ส่งผลให้มีสภาพจิตที่เรียกได้ว่าอยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งก็ถึงว่าน่าจะเป็นตัวอย่างสำหรับคนอื่นๆ ในการดำรงชีวิตในสังคมอันวุ่นวายนี้ โดยตัวเราไม่สูญเสียความสมดุลทั้งทางกายและจิต

สำหรับวิธีการนั้นไม่ยากครับ ผู้เขียนจะขอเสนอวิธีการสั้นๆ ง่ายๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีพิธีการ หรือมีความเชื่อทางลัทธิศาสนาใดๆ มาเกี่ยวข้อง ซึ่งไม่อยากจะแนะนำสิ่งที่มุ่งไปถึงบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ หากแต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทุกเพศทุกวัย นั่นคือ การพิจารณาตามรู้ดูจิตของตัวเอง วิธีการก็ง่ายๆ นะครับ ไม่ยาก ไม่วุ่นวาย เพียงใช้ ๒ ต. นั่นคือ

๑. เตรียมตัว วิธีการง่ายๆ คือ เมื่อเรารู้สึกตัวเวลาตื่นในตอนเช้า เมื่อลืมตาขึ้นให้นอนเฉยๆ หรืออาจจะลุกขึ้นนั่งนิ่งๆ เพื่อรวบรวมสติ ปลุกตัวเองให้หายง่วง โดยยังไม่ต้องลุกไปทำธุระส่วนตัวเลยเสียทีเดียว เพียงแค่ว่าใช้เวลาสั้นๆ สักสองสามนาทีนี้ได้เตรียมตัว เตรียมใจของตัวเอง บอกตัวเองให้พร้อมที่จะพาชีวิตออกไปเผชิญโลกภายนอกในวันนี้ โดยให้สัญญากับตัวเองว่าจะรักษา สุนทรียะทางอารมณ์ให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ พูดง่ายๆ ก็คือ ให้บอกตัวเองว่า วันนี้ฉันจะเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยความแจ่มใสร่าเริง จะคิด จะพูด จะทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม ด้วยการคิดไตร่ตรองก่อนการลงมือทำเพื่อให้มีความสุขทั้งต่อตนเองและคนอื่น จากนั้นก็ลุกขึ้นไปดื่มน้ำเปล่าๆ ก่อนสักขวดหนึ่ง แล้วค่อยไปอาบน้ำล้างหน้าแปรงฟัน และใช้ชีวิตให้มีความสุขทั้งวัน ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน อย่าลืมว่าเตือนตนเองให้ยิ้ม และมีความสุข พูดจาแต่สิ่งที่เป็นมงคล ไพเราะอ่อนหวาน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเมตตา ให้เป็นคนใจกว้าง รู้จักให้อภัย ให้โอกาส ไม่หุนหันพลันแล่น คิดก่อนทำ เลือกทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ที่ย่อยง่าย ละเว้นเครื่องดื่มอื่นใดให้เลือกแต่น้ำเปล่าๆ อาจจะไม่เย็น พยายาใช้ชีวิตของตนเองในวันนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

๒. ตรวจสอบ วิธีนี้ใช้เวลาก่อนนอนครับ ก่อนที่จะล้มหัวลงหมอนให้ใช้เวลาสักสองสามนาทีเช่นกัน นั่งนิ่งๆ คิดถึงช่วงวันที่ผ่านมาว่าเราได้ทำอะไรมาบ้าง สิ่งไหนเป็นประโยชน์ สิ่งไหนเป็นโทษ กาย วาจา ใจ ขุ่นมัวหรือเปล่า วันนี้เราได้สร้างรอยยิ้มแห่งความสุข ความประทับใจให้กับตัวเองและคนอื่นบ้างหรือไม่ มากน้อยเพียงใด หรือว่าทั้งวันต้องพบปะสถานการณ์ต่างๆ รอบตัวแล้วตัวเราได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง จิตเราเป็นไงบ้าง อารมรณ์เราเป็นไงบ้าง ก็ลองนั่งนึกดู แล้วให้ชั่งน้ำหนักเอาเอง ให้คะแนนตัวเองนะครับว่า ดีหรือไม่ดี อาจจะลองแบ่งน้ำหนักข้างฝ่ายละ ๕๐-๕๐ ดูสิว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์/ไม่เป็นประโยชน์ ดีใจ/เสียใจ ขี้เหนียว/เผื่อแผ่ อย่างไหนมีมากกว่ากัน

จากที่กล่าวมานี้นะครับ ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่าด้วยระดับสติปัญญาของท่านผู้อ่านทุกคน สามารถที่รู้ใจตัวเองได้เลยครับว่า เราต้องการให้ตัวเองมีอารมณ์แบบไหน เราต้องการเป็นคนอย่างไร นี่คือวิธีการดำเนินชีวิตที่คิดว่าถูกต้องและเป็นประโยชน์มากที่สุด เป็นการเตรียมตัว เลือกในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ให้อิสระเต็มที่ในการเลือกอยู่เลือกเป็น เราก็จะได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ เหมาะแล้วที่ได้มีโอกาสเกิดมาแล้วดำรงอยู่อย่างมีความสุข ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุขครับ

สวัสดี

บทความพิเศษ พระพุทธศาสนาในต่างแดน โดย ดร.พระมหาถนัด อตฺถจารี



ปัญหาและอุปสรรคของนักบวชหญิง

เป็นอันทราบดีว่า การอุปสมบทของเหล่าภิกษุณีนั้น มีอยู่จริงในทางประวัติศาสตร์ โดยมีสตรีกลุ่มแรกซึ่งมีพระนางมหาปชาบดีโคตมีเป็นแกนนำในการเรียกร้อง มีพระอานนท์เป็นผู้สนับสนุนจนพระพุทธองค์ได้ตอบตกลงให้สตรีบวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนาได้ภายใต้เงื่อนไขที่รัดกุมในส่วนนี้ก็ถือว่าเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่เป็นแรงกดดันให้เหล่าภิกษุณีต้องสาบสูญไปในเวลาอันสั้นเหลือเกิน (เฉพาะฝ่ายเถรวาท)

นอกจากนี้ ก็คือการครองชีพและการเป็นอยู่ก็มีส่วนเหมือนกัน เพราะหากนับเพียงบริขารที่จำเป็นที่อุปัชฌาย์บอกตอนบวช บริขารของภิกษุมีเพียง ๕ เท่านั้น แต่ของฝ่ายภิกษุณีมีถึง ๘ อย่าง ความปลอดภัยต่าง ๆ เช่น มีผู้แอบฉุดคร่าภิกษุณีไปทำมิดีมิร้ายต่าง ๆ หลายแห่งต่อหลายแห่งที่คัมภีร์พระไตรปิฎกได้ปรารภถึงเรื่องนี้ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงข้อต่อไปนั่นก็คือว่าพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่เน้นการเผยแผ่แบบเชิงรุกไม่ใช่เชิงรับ ดังจะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้านั้น พระองค์จะเสด็จไปยังแคว้นต่าง ๆ จากนิคมสู่นิคมจากชนบทสู่ชนบท จนถึงวาระสุดท้ายของ พระชนม์ชีพ แม้สาวกที่เป็นพระภิกษุก็ออกประกาศศาสนาในรูปแบบเดียวกันนี้ โดยเน้นการเข้าถึงประชาชน ดูความทุกข์ยากของประชาชนเป็นหลัก

ดังนั้น การเผยแผ่พระธรรมคำสอนแบบเชิงรุกนี้ สตรีเพศที่เป็นภิกษุณีจึงได้รับความลำบากอย่างสาหัสสากรรจ์พอสมควร บางครั้งเพียงแค่จะอาศัยลงเรือข้ามฟากก็ยังถูกมนุษย์ใจต่ำข่มขืนเอาดังมีปรากฏห้ามภิกษุณีข้ามฟากโดยลำพัง อุปสรรคอันนี้ถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่หลวงสำหรับสตรีเพศที่เป็นนักบวชเพราะพวกผู้ชาย ก็ถือว่าเป็นมลทินต่อพรหมจรรย์ ของนักบวชหญิงด้วยเช่นเดียวกันส่วนความลำบากอย่างอื่นนั้น ไม่เป็นปัญหาสำหรับผู้หญิงเท่าไรนัก เพราะในด้านอารมณ์นั้นผู้หญิงมีความอดทนกว่าผู้ชายเสียอีก แต่ในทางร่างกายนั้นโดยธรรมชาติ การที่จะสัญจรไปในที่ต่าง ๆ ไกล ๆ เหมือนผู้ชายนั้น เป็นเรื่องลำบากสำหรับภิกษุณีมาก เพราะไม่เหมือนชาวบ้านทั่วไปในการวางตัว หนำซ้ำในสมัยนั้นต้องเดินทางด้วยเท้า ไม่มียวดยานพาหนะที่ทันสมัยเช่นปัจจุบัน ยิ่งเพิ่มความลำบากให้แก่ภิกษุณีเป็นเท่าทวีคูณ ไม่เหมือนผู้ชายซึ่งธรรมชาติสร้างมาเพื่อความแข็งแรงคงทนโดยเฉพาะ วันหนึ่ง ๆ พวกภิกษุจึงเดินทางไปเผยแผ่ยังสถานที่ต่าง ๆ ได้มากกว่าภิกษุณีซึ่งเป็นสตรีและไม่มีอันตรายด้วย ส่วนภิกษุณีนั้นบางคนมีหน้าตาสวยงาม เคยเป็นนางงามมาก่อนก็มี เคยเป็นหญิงแพศยามาก็มี ภิกษุณีเหล่านี้จะเดินทางไปไหนแต่ละครั้งพวกหนุ่ม ๆ ก็จะแอบซุบซิบกันจนถึงกับวางแผน ไปดักซุ่มกลางทางก็มี เช่น ในกรณีภิกษุณีอัฑฒกาสี เป็นต้น ที่ต้องการบวชโดยการผ่านทูตหรืออุปสมบทโดยส่งทูตไป ก็เพราะนางทราบว่ามีหนุ่ม ๆ ที่เป็นนักเลงหัวไม้พากันไปดักทางนั่นเอง ด้วยสาเหตุดังที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จึงทำให้ภิกษุณีขาดการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนภิกษุณีที่ประเทศจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี ธิเบตและในบางประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ เป็นต้นนั้น ไม่ใช่ภิกษุณีฝ่ายเถรวาท เพราะภิกษุณีฝ่ายเถรวาทนั้นขาดปวัตตินี หรืออุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุณีไปนานแล้ว การที่จะบวชได้ต้องอาศัยสงฆ์สองฝ่ายจึงจะทำได้



สถาบันสงฆ์คู่แฝดที่แตกต่างกัน

สถาบันสงฆ์นั้นมีอยู่สองคือภิกษุสงฆ์ฝ่ายหนึ่งกับภิกษุณีสงฆ์อีกฝ่ายหนึ่ง (ไม่ใช่ธรรมยุติกับมหานิกาย) ทั้งสองฝ่ายนี้เรียกว่าเป็นนักบวช เป็นอาสาสมัครของพระพุทธเจ้าเป็นผู้เสียสละความสุขส่วนตัวทุกอย่างที่เป็นของชาวโลกเขาไขว่คว้าแสวงหา นั่นก็คือ ความสุขทางกามคุณ เป็นผู้ที่ครองตนอยู่ในกรอบเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่สังคมด้วย เพื่อเป็นการพัฒนาคุณธรรมเบื้องสูงของตนเองด้วย ในเรื่องจุดมุ่งหมายของนักบวชทั้งสองฝ่ายนั้นค่อนข้างจะชัดเจน คือ มุ่งหวังต่อความพ้นทุกข์ ส่วนจะทำได้แค่ไหนเพียงไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องหาทางออกกันต่อไป
สรุปว่า ปัญหาในเรื่องจุดมุ่งหมายของการบวชของภิกษุและภิกษุณี และปัญหาส่วนตัวของสงฆ์ทั้งสองฝ่ายนั้นถือว่าเป็นปัญหารอง ส่วนปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ การที่สงฆ์ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันบริหารหรือแยกกันบริหารจะทำอย่างไรจึงจะทำให้สงฆ์ทั้งสองฝ่ายเกิดความมั่นคง และเชิดชูพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปได้นานเท่านาน ที่สำคัญในแต่ละฝ่ายต้องไม่มีความรู้สึกว่าตนถูกเอาเปรียบ มิเช่นนั้นแล้วสถาบันสงฆ์ทั้งสอง ก็จะมีเพียงความเจริญเติบโตที่เอิบอาบไปด้วยความไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่พุทธประสงค์อยู่แล้ว

เมื่อเจาะเข้าไปถึงโครงสร้างของสงฆ์ทั้งฝ่ายภิกษุและภิกษุณีแล้ว ความเกี่ยวข้องในเบื้องแรกนั้นจริง ๆ ก็มีอยู่ เช่น ตอนแรกจะมีการทำอุโบสถร่วมกัน ทำกรรมร่วมกันหลายอย่าง โดยถือเอาความเสมอภาคพร้อมเพรียงกันเป็นหลัก การพัฒนาองค์กรสงฆ์ในรูปแบบนี้เองที่เรียกว่า การพัฒนาแบบเรียงหน้ากระดาน คือ ก้าวไปพร้อม ๆ กัน แต่แล้วก็พบเข้ากับอุปสรรคจนได้เพราะเสียงจากประชาชนผู้หวังดีที่พูดคุยกันจากข้างนอกเข้าไปพระพุทธองค์ก็ทรงเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากการพัฒนาองค์กรสงฆ์แบบเรียงหน้ากระดานมาเป็นแบบแถวเรียงหนึ่ง คือ การเดินตามกันโดยถือเอาฝ่ายภิกษุสงฆ์เป็นหลัก คือ เดินก่อน ในการแยกการปกครองคราวนั้นเองที่ผู้หญิงในปัจจุบันนี้เห็นว่า พระพุทธองค์ลอยแพภิกษุณี แต่จริง ๆ แล้วพระพุทธองค์ทรงป้องกันความเศร้าหมองทางวินัยของสงฆ์ทั้งฝ่ายเท่านั้น เพราะโทษของการอยู่คลุกคลีของสงฆ์ทั้งสองฝ่ายย่อมไม่เป็นการดีแน่




ในสังฆกรรมเบื้องต้น คือ การบวชภิกษุณีนั้นจำเป็นต้องอิงอยู่กับสถาบันภิกษุสงฆ์ก่อน ส่วนสังฆกรรมอย่างอื่น ๆ ก็เริ่มแยกกันทำ ประกอบกับความจำกัดทางเพศและช่วงระยะกาลเวลาในการบวชของภิกษุณีเหล่านี้ จึงทำให้สงฆ์อีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้นานในที่สุดก็ขาดสูญไปเหมือนการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์บางประเภทตามกฎของไตรลักษณ์ แม้ฝ่ายภิกษุสงฆ์เองก็จะต้องเป็นเช่นนั้นบ้างในอนาคต(๑)
ภิกษุสงฆ์จะเหลือเพียงผ้าเหลืองพันอยู่ที่คอเท่านั้น แล้วในที่สุดแม้เผ่าพันธุ์ของภิกษุสงฆ์ก็จะขาดสูญไปเช่นกัน เมื่อโลกเข้าสู่ยุคมิคสัญญีเต็มรูปแบบ แม้โลกเองก็จะไม่สามารถทรงอยู่ได้เช่นกัน แต่ไม่ว่าภิกษุณีสงฆ์จะเหลืออยู่หรือไม่ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ความใจกว้างดุจดังมหาสมุทรและความเสมอภาคของพระพุทธองค์ทรงเป็นนักปฏิวัติความเหลื่อมล้ำของโลกสมกับที่นักปราชญ์ชาวลังกาท่านหนึ่งได้กล่าวเอาไว้ว่า :-
-In the field of religious practices, the position which they once enjoyed, was denied to them. A women was believed to be unable to go to heaven through her own merits. She could not worship by herself, and it was believed that she could only reach heaven through unquestioning obedience to her husband, even if he happened to be a wicked person. The food left over by her husband was often the food for the women.
It was in the midst of such extreme social discrimination and degrading attitudes towards women that the Buddha made his appearance in India. His teachings on the real nature of life and death - about Karma and samsaric wanderings, gave rise to considerable changes in the social attitudes towards women in his days.
แปลเอาความเป็นภาษาไทยว่า :-
(ในสมัยครั้งพุทธกาล) สตรีจะถูกห้ามไม่ให้มีการฝึกฝนทางศาสนาทุกอย่าง แม้ว่า จะมีความยินดีสักเพียงใดก็ตาม เพราะมีความเชื่อกันว่า สตรีไม่สามารถจะไปสู่สวรรค์ได้ด้วยคุณงามความดีของสตรีเอง สตรีต้องไม่บูชาเทพเจ้าและสตรีจะไปสู่สวรรค์ได้ก็โดยการเคารพเชื่อฟังสามีเท่านั้น ไม่ว่าสามีจะโหดร้ายเลวทรามอย่างไรก็ตาม.
นี้คือความเหลื่อมล้ำทางสังคมอันยิ่งใหญ่ ที่ทำให้บทบาทของเหล่าสตรีตกต่ำไร้คุณค่าพระพุทธองค์จึงสร้างปรากฏการณ์ด้วยความคิดอันมีคุณธรรมขึ้น ในประเทศอินเดียด้วยพระองค์เอง คำสั่งสอนของพระองค์ยึดมั่นอยู่ในธรรมชาติของชีวิต ที่เป็นจริงและความสิ้นสุดของชีวิตด้วยหลักกรรม และการท่องเที่ยวไปสู่สังสารวัฏจึงสามารถเปลี่ยนแนวความคิดต่าง ๆ ของสังคมที่มีต่อสตรีได้ จนถึงปัจจุบันนี้(๒)

เอกสารอ้างอิง
๑.ดู ทักขิณาวิภังคสูตร ม.อุปริ. ๑๔/๓๘๐/๒๓๕
๒.STATUS OF WOMEN IN BUDDHISM by K. Sri Dammanada