วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ว่าด้วย “ความอาย”

“ความอาย” ไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย…“ความไม่อาย” ต่างหากที่เป็นเรื่อง น่าอาย
ความอายไม่ได้มีมาตั้งแต่ที่เราเกิด…แต่มันเริ่มเกิดมาตั้งแต่ที่ “เรา” มี
เราค่อยๆ เรียนรู้ว่า สิ่งใดน่าอาย สิ่งใดไม่น่าอาย…แล้วเราก็ค่อยๆ อาย…(ถ้าเรามี-ความอาย)
แต่ถ้าเราไม่อายในสิ่งที่น่าอาย…นั่นก็ไม่ได้แปลว่า “สิ่งนั้น” จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าอาย
แต่…มันแปลว่า…“เรา”…หน้าไม่อาย
คนที่ไม่อายในสิ่งที่น่าอาย…เป็นคนหน้าไม่อาย…(…อู้ว…)
คนที่อายในสิ่งที่น่าอาย…เป็นคนขี้อาย…(…อืม…)
คนที่อายในสิ่งที่ไม่น่าอาย…เป็นคนโง่…(…อ้าว…)
คนที่ไม่อายในสิ่งที่ไม่น่าอาย…เป็นคนฉลาด…(…เอ๊ะ…)
…แล้ว…อะไรที่น่าอาย ? …อะไรที่ไม่น่าอาย ? …หือ…?…
…นั่นแหละ…ที่เราต้องมาเรียนรู้…ต้องมาฝึกที่จะรู้…ต้องมาปฏิบัติ…เพื่อที่จะรู้
ถ้ารู้จริง (ฉลาด) ก็จะอายในสิ่งที่ควรอาย…ถ้ารู้ไม่จริง (โง่) ก็จะอายในสิ่งที่ไม่ควรอาย
สิ่งแรกที่ควรจะรู้…ไม่ใช่แค่รู้ว่าอะไรที่ควรอาย…แต่ต้องมารู้ให้ได้ก่อนว่า “ใคร” อาย ?
ถ้ายังแยกระหว่าง “ความอาย” กับ “คนที่อาย” ออกจากกันไม่ได้…ก็แปลว่าเรายัง “ไม่รู้”
พอไม่รู้…คนที่อาย (ตัวกู) ก็จะจัดการกับสิ่งที่ตนอาย (ไม่ใช่ “สิ่งที่น่าอาย” นะ) ไปแบบ…โง่ๆ
เพราะไม่รู้ตัว…เลยไม่รู้ว่า “ตัว” กำลังปกปิดความอาย หรือกำลังปกปิด “คนที่อาย” กันแน่…
…อย่าว่าแต่จะมารู้ว่า…สิ่งที่กำลังปกปิดนั้น…มันใช่สิ่งที่น่าอาย…หรือไม่ ?
ถาม…อะไรเป็นสิ่งที่น่าอาย ?
ตอบ…ความชั่ว
ถาม…อะไรคือความชั่ว ?
ตอบ…ความโลภ - ความโกรธ - ความหลง
ถาม…มันมาจากไหน ?
ตอบ…มาจากเจตนา
ถาม…มันอยู่ที่ไหน ?
ตอบ…อยู่ในจิต
ถาม…มันเกิดขึ้นได้ไง ?
ตอบ…เพราะมันโง่ไง (มันไม่รู้)
การอายความชั่ว…จึงเป็นสิ่งที่ต้องเรียน (ถึงจะรู้)…ต้องมาฝึก-ต้องมาปฏิบัติ (ถึงจะมี)
สำหรับนักปฏิบัติแล้ว…เป็นสิ่งที่น่าอายมาก…ที่จะปล่อยให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง…มีกำลัง
จนมันสามารถไปผลักดันให้เกิดการกระทำชั่วออกมา ทั้ง…ทางกาย…ทางวาจา…ทางใจ
เพราะนั่นแปลว่า…ไม่ได้ปฏิบัติ…(แล้วจะมาวางท่าเป็นนักปฏิบัติอยู่ได้ไง…น่าอายมากกกก…)
อาการปล่อย-อาการเผลอ ก็คือไม่มีสติ…ไม่มีสติ ก็คือไม่ได้ปฏิบัติ (ขณะที่เผลอ-ปัจจุบันที่เผลอ)
ถ้าปฏิบัติก็จะมีสติ…เมื่อมีสติก็จะไม่เผลอ…ปล่อยให้ความชั่วมีกำลังได้
แน่นอน ว่า…ความชั่ว…มันไม่ได้มีตลอดเวลา…มันก็ “เกิด-ดับ” ของมันไปเรื่อยแหละ
และแน่นอน ว่า…สติ…มันก็ไม่ได้มีตลอดเวลา เช่นกัน…ถ้ามี ก็ไม่ต้องมาฝึกแล้ว (นิพพานแล้ว)
เรามาฝึกสติ…ฝึกที่จะเห็นความชั่วมัน “เกิด-ดับ”…ฝึกที่จะรู้ว่ามันไปผลักดันให้เกิดการกระทำที่น่าอาย
…ฝึกที่จะรู้ว่า…ความชั่ว…เป็นสิ่งที่น่าอาย
…ฝึกที่จะรู้ว่า…การปกปิดความชั่ว…เป็นสิ่งที่น่าอาย…ยิ่งกว่า
คนที่ไม่ได้ฝึก มักจะไม่อายในสิ่งที่ควรอาย…แต่จะอายที่มีความอาย…แล้วปกปิดความอายด้วยการทำสิ่งผิดๆ
…บางคนอายที่เป็นคนจน…เลยไปคด ไปโกง ไปขโมย ไปปล้นเขามา
นี่…ปกปิดความอายด้วยความโลภ…
…บางคนอายที่เป็นคนต่ำศักดิ์…เลยวางท่า วางอำนาจ ข่มใครต่อใครเขาไปทั่ว (เว้นคนที่เหนือกว่า-กลัว)
นี่…ปกปิดความอายด้วยความโกรธ…
…บางคนอายที่เป็นคนโง่…เลยทำท่าว่ารู้นั่นรู้นี่ไปซะหมด…นึกว่าไม่มีใครเขารู้ (ว่าไม่รู้)
นี่…ปกปิดความอายด้วยความหลง…
…บางคนอายความไม่สวย (คิดเอาเอง)…เลยยอมเจ็บตัว…ไปตัดนู้น เติมนี่ ต่อนั่น…สรุป…เละกว่าเดิม !
นี่ก็…ปกปิดความอายด้วยความหลง…
………………………………… ฯ ล ฯ …………………………………
เราทุกคน ก็เหมือนเด็ก…เด็กที่ยังไม่รู้ประสีประสาอะไร อาจจะไปยืนแก้ผ้ากลางถนนได้ โดยที่ไม่อายอะไร…ก็มันไม่รู้นี่นา
พอรู้ประสาขึ้นมา…เด็กน้อยนั้นก็จะไม่ยอมทำอย่างนั้นอีก (ละชั่ว)…หรืออย่างน้อย ถ้าทำ…ก็ทำด้วยความอาย (มีหิริ-อายชั่ว)
…แล้วถ้าเขายังทำอยู่อีก โดยที่ไม่อายอะไรเลยล่ะ ?
…เขาไม่อาย…ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่เขาทำนั้นน่ะไม่ใช่สิ่งที่…“น่าอาย”
…เขาไม่อาย…นอกจากจะแปลว่าเขา “หน้าไม่อาย” แล้ว ยังแปลว่าเขา “ไม่รู้”…ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นน่ะ…“น่าอาย”
แต่สิ่งที่น่าอาย ก็ยังเป็นสิ่งที่น่าอายอยู่วันยังค่ำ…เหมือน…ความชั่ว ก็ยังคงเป็นความชั่วอยู่วันยังค่ำ
ใครจะรู้…ใครจะไม่รู้…ผลของมันก็ยังคงมีอยู่…เป็นอยู่…อย่างนั้นเอง…ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
เด็กยืนแก้ผ้ากลางถนน…ยังพอทน…บางคนก็ว่าน่าเอ็นดู
แต่ถ้าผู้ใหญ่ ไปแก้ผ้ากลางถนน…มันเหลือทน…แต่ บางคนก็ยังชอบดู
เหมือนความชั่ว…บางคนก็ชอบดู…ชื่นชมกับความชั่วที่คนอื่นทำ…หรือภูมิใจที่ได้ทำเอง…ก็มี
…เพราะไม่รู้ว่าอะไรดี-อะไรชั่ว…อะไรน่าอาย…
…ก็วนมาที่เดิม…ต้องฝึก…ต้องปฏิบัติ…ต้องภาวนา…ต้องเจริญสติ…ต้องบำเพ็ญเพียร…สารพัดจะเรียก
…แต่มีเป้าหมายเดียว…คือ…รู้…ทำได้ก็รู้-ทำไม่ได้ก็รู้
ในขณะที่ฝึก เมื่อเราพลาด เราจะรู้ เพราะว่าเรากำลังระวังอยู่…แล้วเราจะเริ่มต้นใหม่ อีกกี่ครั้งก็ได้
ในชีวิตจริง ผิดก็คือผิด ผลของมันก็มีขึ้นทันที เหมือนกันกับในขณะฝึก…มีจริงๆ…แต่เราไม่เคยรู้
เพราะเราไม่เคยระวัง…จึงต้องมาฝึกระวังตัว…ฝึกที่จะรู้ตัว…เพื่อที่จะได้ไม่พลาด
เพราะในชีวิตจริงนั้น…ไม่มีการเริ่มต้นใหม่…ไม่มีสิทธิขอโอกาสอีกครั้ง…ไม่มีสิทธิแก้ตัว…ไม่มีทางที่จะไปแก้ไข ในสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว
เพราะ…มันกลายเป็นอดีตไปแล้ว ทุกขณะ…เราจัดการได้แต่…ปัจจุบัน…เท่านั้น
ต้องมา “รู้” ตรงนี้ให้ได้…แต่จะรู้ได้ ก็ด้วยการ…ฝึกที่จะ “รู้”
…อย่ารอจนสายเกินการ…