วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

ดวงตาเห็นธรรม

ดวงตาเห็นธรรม

กลับมาพบกันในฉบับที่สองนะครับ สำหรับบทความนี้ต่อไปจะใช้ชื่อว่า "ดวงตาเห็นธรรม" เพราะรู้สึกว่าจะตรงกับประเด็นที่ผู้เขียนอยากจะนำเสนอ นั่นคือบอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์/สถานการณ์โลกในปัจจุบันให้ท่านได้ฟังกันผ่านธรรมะ เปรียบเสมือนกับการมองโลกผ่านธรรม ซึ่งหากเราพิจารณาแล้วก็จะพบสัจจะที่อยู่ในแต่ละเหตุการณ์ โดยอาจจะทำให้เราเรียนรู้และเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เปรียบเสมือนกับการได้ดวงตาเห็นธรรม

ในช่วงไม่กี่วันมานี้ไม่ว่าเราจะเปิดทีวีช่องไหนในประเทศไทย ก็คงจะหนีไม่พ้นเหตุการณ์ความวุ่นวายของการเมืองภายในประเทศที่นับวันจะยิ่งยุ่งเหยิงไปกันใหญ่ จนหลายคนรู้สึกเบื่อหรืออาจจะเครียดโดยไม่รู้ตัว เพราะมันเกิดขึ้นใกล้ตัวเรามากถึงมากที่สุด ที่ว่าอย่างนี้ก็เพราะว่ามันเกิดขึ้นที่บ้านเกิดเมืองนอนของเราเอง ซึ่งในจุดนี้หากท่านอยู่ในต่างประเทศจะเห็นความรู้สึกนี้ได้ชัดที่สุด

ผู้เขียนจึงอยากจะนำเสนอวิธีการวิเคราะห์อารมณ์ของตัวเอง ในที่นี้จะไม่วิเคราะห์หรือให้ความเห็นเกี่ยวกับการเมืองหรือสิ่งเร้ารอบตัวเรา แต่จะนำท่านไปหาวิธีการจัดการความเครียด ความเบื่อหน่าย หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เกิดขึ้นว่าเราจะสามารถเรียนรู้อะไร และจะปฏิบัติตัวอย่างไรกับเหตุการณ์รอบๆ ตัวเราได้บ้าง ซึ่งผู้เขียนมีความเชื่อว่าอย่างน้อยก็คงจะช่วยเยียวยาหัวใจที่บอบช้ำของใครหลายๆ คนได้

แน่นอนครับ ณ เวลานี้แทบที่จะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสภาพจิตใจของประชาชนคนไทยในสภาวะเช่นนี้ย่อมมีความไม่ปกติสุขอยู่เป็นแน่แท้ เพราะปัจจัยหลายๆ อย่างทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง อันส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไม่มีข้อยกเว้นนะครับ ไม่ว่าจะเป็นลูกเด็กเล็กแดง นักเรียนนักศึกษา พ่อค้าประชาชน ข้าราชการทหารตำรวจ หรือแม้กระทั่งพระสงฆ์องค์เจ้าก็ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบไปตามๆ กันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป ซึ่งหากจะมองแล้วมันเป็นเหมือนปฏิกิริยาลูกโซ่ ที่รัดร้อยกันเป็นงูกินหาง ยิ่งสาวหาปลายก็ยิ่งวนไปไม่รู้จักจบสิ้น

ผลกระทบที่กล่าวถึงนั้นแน่นอนที่สุดทางด้านรูปธรรมย่อมที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็อาจจะด้านปัจจัยใช้สอย จากแต่ก่อนที่มีเงินทองใช้จ่ายได้สะดวกสบายก็กลับกลายหายพร่องไปบ้าง อันที่เคยเก็บออมเอาไว้ใช้จ่ายยามจำเป็นก็ต้องเอาออกมาใช้ บางท่านอาจจะตกงาน ไม่ว่าจะถูกบีบให้ออก หรือต้องปฏิบัติตามนโยบายของหน่วยงานที่ต้องปรับเปลี่ยนตำแหน่งแห่งหน เป็นต้น ซึ่งจริงๆ ปัญหาเหล่านี้มันไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น หากแต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตตลอดเวลา แต่อาจจะไม่รุนแรงเท่าในปัจจุบันเท่านั้นเอง ซึ่งผู้ที่สนใจใฝ่ศึกษาสามารถค้นคว้าได้ว่าปัญหาที่กล่าวถึงนั้นมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย ซึ่งจะผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวลึกลงไปในทุกรายละเอียด เพียงแต่อยากจะกล่าวสั้นๆ ให้เป็นประเด็นเพื่อจะได้คิดตามและมองเห็นปัญหาหรือสิ่งที่ผู้เขียนกำลังกล่าวถึง

เอาล่ะ ทีนี้เรามาว่ากันถึงผลกระทบที่สองที่เป็นนามธรรมที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ผลกระทบทางด้านจิตใจ อันจะเป็นปัจจัยให้เกิดสภาวะอารมณ์ที่แปรปรวน บางคนจากเคยอารมณ์ดีก็กลับเป็นคนอารมณ์บูดง่าย จากที่มีนิสัยมักโกรธ หรือเห็นอะไรขวางหูขวางตาไม่ได้เป็นต้องมีความรู้สึกหงุดหงิดตะขิดตะขวงก็กลับกลายเป็นว่าร้ายยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม อันนี้น่าจะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดสำหรับสภาพอารมณ์ของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน นั่นคืออยู่ร้อนนอนทุกข์

แต่ในขณะเดียวกันนะครับก็มีคนอีกจำพวกหนึ่งที่พยายามศึกษา เรียนรู้ หมั่นฝึกหัดปฏิบัติกาย วาจา ใจให้สำรวมระงับ จากภาวะสิ่งเร้าที่อยู่รอบตัวนั้นๆ ไม่ให้มีอำนาจอยู่เหนือจิตใจของตนเอง โดยอาจจะศึกษา ปฏิบัติธรรม ฟังธรรมบรรยายบ่อยๆ ฝึกบ่อยๆ ตามรู้ดูจิตด้วยรูปแบบวิธีการที่ครูบาอาจารย์ของแต่ละท่านได้สั่งสอนแนะนำ ก็ส่งผลให้มีสภาพจิตที่เรียกได้ว่าอยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งก็ถึงว่าน่าจะเป็นตัวอย่างสำหรับคนอื่นๆ ในการดำรงชีวิตในสังคมอันวุ่นวายนี้ โดยตัวเราไม่สูญเสียความสมดุลทั้งทางกายและจิต

สำหรับวิธีการนั้นไม่ยากครับ ผู้เขียนจะขอเสนอวิธีการสั้นๆ ง่ายๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีพิธีการ หรือมีความเชื่อทางลัทธิศาสนาใดๆ มาเกี่ยวข้อง ซึ่งไม่อยากจะแนะนำสิ่งที่มุ่งไปถึงบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ หากแต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทุกเพศทุกวัย นั่นคือ การพิจารณาตามรู้ดูจิตของตัวเอง วิธีการก็ง่ายๆ นะครับ ไม่ยาก ไม่วุ่นวาย เพียงใช้ ๒ ต. นั่นคือ

๑. เตรียมตัว วิธีการง่ายๆ คือ เมื่อเรารู้สึกตัวเวลาตื่นในตอนเช้า เมื่อลืมตาขึ้นให้นอนเฉยๆ หรืออาจจะลุกขึ้นนั่งนิ่งๆ เพื่อรวบรวมสติ ปลุกตัวเองให้หายง่วง โดยยังไม่ต้องลุกไปทำธุระส่วนตัวเลยเสียทีเดียว เพียงแค่ว่าใช้เวลาสั้นๆ สักสองสามนาทีนี้ได้เตรียมตัว เตรียมใจของตัวเอง บอกตัวเองให้พร้อมที่จะพาชีวิตออกไปเผชิญโลกภายนอกในวันนี้ โดยให้สัญญากับตัวเองว่าจะรักษา สุนทรียะทางอารมณ์ให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ พูดง่ายๆ ก็คือ ให้บอกตัวเองว่า วันนี้ฉันจะเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยความแจ่มใสร่าเริง จะคิด จะพูด จะทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม ด้วยการคิดไตร่ตรองก่อนการลงมือทำเพื่อให้มีความสุขทั้งต่อตนเองและคนอื่น จากนั้นก็ลุกขึ้นไปดื่มน้ำเปล่าๆ ก่อนสักขวดหนึ่ง แล้วค่อยไปอาบน้ำล้างหน้าแปรงฟัน และใช้ชีวิตให้มีความสุขทั้งวัน ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน อย่าลืมว่าเตือนตนเองให้ยิ้ม และมีความสุข พูดจาแต่สิ่งที่เป็นมงคล ไพเราะอ่อนหวาน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเมตตา ให้เป็นคนใจกว้าง รู้จักให้อภัย ให้โอกาส ไม่หุนหันพลันแล่น คิดก่อนทำ เลือกทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ที่ย่อยง่าย ละเว้นเครื่องดื่มอื่นใดให้เลือกแต่น้ำเปล่าๆ อาจจะไม่เย็น พยายาใช้ชีวิตของตนเองในวันนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

๒. ตรวจสอบ วิธีนี้ใช้เวลาก่อนนอนครับ ก่อนที่จะล้มหัวลงหมอนให้ใช้เวลาสักสองสามนาทีเช่นกัน นั่งนิ่งๆ คิดถึงช่วงวันที่ผ่านมาว่าเราได้ทำอะไรมาบ้าง สิ่งไหนเป็นประโยชน์ สิ่งไหนเป็นโทษ กาย วาจา ใจ ขุ่นมัวหรือเปล่า วันนี้เราได้สร้างรอยยิ้มแห่งความสุข ความประทับใจให้กับตัวเองและคนอื่นบ้างหรือไม่ มากน้อยเพียงใด หรือว่าทั้งวันต้องพบปะสถานการณ์ต่างๆ รอบตัวแล้วตัวเราได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง จิตเราเป็นไงบ้าง อารมรณ์เราเป็นไงบ้าง ก็ลองนั่งนึกดู แล้วให้ชั่งน้ำหนักเอาเอง ให้คะแนนตัวเองนะครับว่า ดีหรือไม่ดี อาจจะลองแบ่งน้ำหนักข้างฝ่ายละ ๕๐-๕๐ ดูสิว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์/ไม่เป็นประโยชน์ ดีใจ/เสียใจ ขี้เหนียว/เผื่อแผ่ อย่างไหนมีมากกว่ากัน

จากที่กล่าวมานี้นะครับ ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่าด้วยระดับสติปัญญาของท่านผู้อ่านทุกคน สามารถที่รู้ใจตัวเองได้เลยครับว่า เราต้องการให้ตัวเองมีอารมณ์แบบไหน เราต้องการเป็นคนอย่างไร นี่คือวิธีการดำเนินชีวิตที่คิดว่าถูกต้องและเป็นประโยชน์มากที่สุด เป็นการเตรียมตัว เลือกในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ให้อิสระเต็มที่ในการเลือกอยู่เลือกเป็น เราก็จะได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ เหมาะแล้วที่ได้มีโอกาสเกิดมาแล้วดำรงอยู่อย่างมีความสุข ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุขครับ

สวัสดี

บทความพิเศษ พระพุทธศาสนาในต่างแดน โดย ดร.พระมหาถนัด อตฺถจารี



ปัญหาและอุปสรรคของนักบวชหญิง

เป็นอันทราบดีว่า การอุปสมบทของเหล่าภิกษุณีนั้น มีอยู่จริงในทางประวัติศาสตร์ โดยมีสตรีกลุ่มแรกซึ่งมีพระนางมหาปชาบดีโคตมีเป็นแกนนำในการเรียกร้อง มีพระอานนท์เป็นผู้สนับสนุนจนพระพุทธองค์ได้ตอบตกลงให้สตรีบวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนาได้ภายใต้เงื่อนไขที่รัดกุมในส่วนนี้ก็ถือว่าเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่เป็นแรงกดดันให้เหล่าภิกษุณีต้องสาบสูญไปในเวลาอันสั้นเหลือเกิน (เฉพาะฝ่ายเถรวาท)

นอกจากนี้ ก็คือการครองชีพและการเป็นอยู่ก็มีส่วนเหมือนกัน เพราะหากนับเพียงบริขารที่จำเป็นที่อุปัชฌาย์บอกตอนบวช บริขารของภิกษุมีเพียง ๕ เท่านั้น แต่ของฝ่ายภิกษุณีมีถึง ๘ อย่าง ความปลอดภัยต่าง ๆ เช่น มีผู้แอบฉุดคร่าภิกษุณีไปทำมิดีมิร้ายต่าง ๆ หลายแห่งต่อหลายแห่งที่คัมภีร์พระไตรปิฎกได้ปรารภถึงเรื่องนี้ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงข้อต่อไปนั่นก็คือว่าพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่เน้นการเผยแผ่แบบเชิงรุกไม่ใช่เชิงรับ ดังจะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้านั้น พระองค์จะเสด็จไปยังแคว้นต่าง ๆ จากนิคมสู่นิคมจากชนบทสู่ชนบท จนถึงวาระสุดท้ายของ พระชนม์ชีพ แม้สาวกที่เป็นพระภิกษุก็ออกประกาศศาสนาในรูปแบบเดียวกันนี้ โดยเน้นการเข้าถึงประชาชน ดูความทุกข์ยากของประชาชนเป็นหลัก

ดังนั้น การเผยแผ่พระธรรมคำสอนแบบเชิงรุกนี้ สตรีเพศที่เป็นภิกษุณีจึงได้รับความลำบากอย่างสาหัสสากรรจ์พอสมควร บางครั้งเพียงแค่จะอาศัยลงเรือข้ามฟากก็ยังถูกมนุษย์ใจต่ำข่มขืนเอาดังมีปรากฏห้ามภิกษุณีข้ามฟากโดยลำพัง อุปสรรคอันนี้ถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่หลวงสำหรับสตรีเพศที่เป็นนักบวชเพราะพวกผู้ชาย ก็ถือว่าเป็นมลทินต่อพรหมจรรย์ ของนักบวชหญิงด้วยเช่นเดียวกันส่วนความลำบากอย่างอื่นนั้น ไม่เป็นปัญหาสำหรับผู้หญิงเท่าไรนัก เพราะในด้านอารมณ์นั้นผู้หญิงมีความอดทนกว่าผู้ชายเสียอีก แต่ในทางร่างกายนั้นโดยธรรมชาติ การที่จะสัญจรไปในที่ต่าง ๆ ไกล ๆ เหมือนผู้ชายนั้น เป็นเรื่องลำบากสำหรับภิกษุณีมาก เพราะไม่เหมือนชาวบ้านทั่วไปในการวางตัว หนำซ้ำในสมัยนั้นต้องเดินทางด้วยเท้า ไม่มียวดยานพาหนะที่ทันสมัยเช่นปัจจุบัน ยิ่งเพิ่มความลำบากให้แก่ภิกษุณีเป็นเท่าทวีคูณ ไม่เหมือนผู้ชายซึ่งธรรมชาติสร้างมาเพื่อความแข็งแรงคงทนโดยเฉพาะ วันหนึ่ง ๆ พวกภิกษุจึงเดินทางไปเผยแผ่ยังสถานที่ต่าง ๆ ได้มากกว่าภิกษุณีซึ่งเป็นสตรีและไม่มีอันตรายด้วย ส่วนภิกษุณีนั้นบางคนมีหน้าตาสวยงาม เคยเป็นนางงามมาก่อนก็มี เคยเป็นหญิงแพศยามาก็มี ภิกษุณีเหล่านี้จะเดินทางไปไหนแต่ละครั้งพวกหนุ่ม ๆ ก็จะแอบซุบซิบกันจนถึงกับวางแผน ไปดักซุ่มกลางทางก็มี เช่น ในกรณีภิกษุณีอัฑฒกาสี เป็นต้น ที่ต้องการบวชโดยการผ่านทูตหรืออุปสมบทโดยส่งทูตไป ก็เพราะนางทราบว่ามีหนุ่ม ๆ ที่เป็นนักเลงหัวไม้พากันไปดักทางนั่นเอง ด้วยสาเหตุดังที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จึงทำให้ภิกษุณีขาดการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนภิกษุณีที่ประเทศจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี ธิเบตและในบางประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ เป็นต้นนั้น ไม่ใช่ภิกษุณีฝ่ายเถรวาท เพราะภิกษุณีฝ่ายเถรวาทนั้นขาดปวัตตินี หรืออุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุณีไปนานแล้ว การที่จะบวชได้ต้องอาศัยสงฆ์สองฝ่ายจึงจะทำได้



สถาบันสงฆ์คู่แฝดที่แตกต่างกัน

สถาบันสงฆ์นั้นมีอยู่สองคือภิกษุสงฆ์ฝ่ายหนึ่งกับภิกษุณีสงฆ์อีกฝ่ายหนึ่ง (ไม่ใช่ธรรมยุติกับมหานิกาย) ทั้งสองฝ่ายนี้เรียกว่าเป็นนักบวช เป็นอาสาสมัครของพระพุทธเจ้าเป็นผู้เสียสละความสุขส่วนตัวทุกอย่างที่เป็นของชาวโลกเขาไขว่คว้าแสวงหา นั่นก็คือ ความสุขทางกามคุณ เป็นผู้ที่ครองตนอยู่ในกรอบเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่สังคมด้วย เพื่อเป็นการพัฒนาคุณธรรมเบื้องสูงของตนเองด้วย ในเรื่องจุดมุ่งหมายของนักบวชทั้งสองฝ่ายนั้นค่อนข้างจะชัดเจน คือ มุ่งหวังต่อความพ้นทุกข์ ส่วนจะทำได้แค่ไหนเพียงไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องหาทางออกกันต่อไป
สรุปว่า ปัญหาในเรื่องจุดมุ่งหมายของการบวชของภิกษุและภิกษุณี และปัญหาส่วนตัวของสงฆ์ทั้งสองฝ่ายนั้นถือว่าเป็นปัญหารอง ส่วนปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ การที่สงฆ์ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันบริหารหรือแยกกันบริหารจะทำอย่างไรจึงจะทำให้สงฆ์ทั้งสองฝ่ายเกิดความมั่นคง และเชิดชูพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปได้นานเท่านาน ที่สำคัญในแต่ละฝ่ายต้องไม่มีความรู้สึกว่าตนถูกเอาเปรียบ มิเช่นนั้นแล้วสถาบันสงฆ์ทั้งสอง ก็จะมีเพียงความเจริญเติบโตที่เอิบอาบไปด้วยความไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่พุทธประสงค์อยู่แล้ว

เมื่อเจาะเข้าไปถึงโครงสร้างของสงฆ์ทั้งฝ่ายภิกษุและภิกษุณีแล้ว ความเกี่ยวข้องในเบื้องแรกนั้นจริง ๆ ก็มีอยู่ เช่น ตอนแรกจะมีการทำอุโบสถร่วมกัน ทำกรรมร่วมกันหลายอย่าง โดยถือเอาความเสมอภาคพร้อมเพรียงกันเป็นหลัก การพัฒนาองค์กรสงฆ์ในรูปแบบนี้เองที่เรียกว่า การพัฒนาแบบเรียงหน้ากระดาน คือ ก้าวไปพร้อม ๆ กัน แต่แล้วก็พบเข้ากับอุปสรรคจนได้เพราะเสียงจากประชาชนผู้หวังดีที่พูดคุยกันจากข้างนอกเข้าไปพระพุทธองค์ก็ทรงเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากการพัฒนาองค์กรสงฆ์แบบเรียงหน้ากระดานมาเป็นแบบแถวเรียงหนึ่ง คือ การเดินตามกันโดยถือเอาฝ่ายภิกษุสงฆ์เป็นหลัก คือ เดินก่อน ในการแยกการปกครองคราวนั้นเองที่ผู้หญิงในปัจจุบันนี้เห็นว่า พระพุทธองค์ลอยแพภิกษุณี แต่จริง ๆ แล้วพระพุทธองค์ทรงป้องกันความเศร้าหมองทางวินัยของสงฆ์ทั้งฝ่ายเท่านั้น เพราะโทษของการอยู่คลุกคลีของสงฆ์ทั้งสองฝ่ายย่อมไม่เป็นการดีแน่




ในสังฆกรรมเบื้องต้น คือ การบวชภิกษุณีนั้นจำเป็นต้องอิงอยู่กับสถาบันภิกษุสงฆ์ก่อน ส่วนสังฆกรรมอย่างอื่น ๆ ก็เริ่มแยกกันทำ ประกอบกับความจำกัดทางเพศและช่วงระยะกาลเวลาในการบวชของภิกษุณีเหล่านี้ จึงทำให้สงฆ์อีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้นานในที่สุดก็ขาดสูญไปเหมือนการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์บางประเภทตามกฎของไตรลักษณ์ แม้ฝ่ายภิกษุสงฆ์เองก็จะต้องเป็นเช่นนั้นบ้างในอนาคต(๑)
ภิกษุสงฆ์จะเหลือเพียงผ้าเหลืองพันอยู่ที่คอเท่านั้น แล้วในที่สุดแม้เผ่าพันธุ์ของภิกษุสงฆ์ก็จะขาดสูญไปเช่นกัน เมื่อโลกเข้าสู่ยุคมิคสัญญีเต็มรูปแบบ แม้โลกเองก็จะไม่สามารถทรงอยู่ได้เช่นกัน แต่ไม่ว่าภิกษุณีสงฆ์จะเหลืออยู่หรือไม่ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ความใจกว้างดุจดังมหาสมุทรและความเสมอภาคของพระพุทธองค์ทรงเป็นนักปฏิวัติความเหลื่อมล้ำของโลกสมกับที่นักปราชญ์ชาวลังกาท่านหนึ่งได้กล่าวเอาไว้ว่า :-
-In the field of religious practices, the position which they once enjoyed, was denied to them. A women was believed to be unable to go to heaven through her own merits. She could not worship by herself, and it was believed that she could only reach heaven through unquestioning obedience to her husband, even if he happened to be a wicked person. The food left over by her husband was often the food for the women.
It was in the midst of such extreme social discrimination and degrading attitudes towards women that the Buddha made his appearance in India. His teachings on the real nature of life and death - about Karma and samsaric wanderings, gave rise to considerable changes in the social attitudes towards women in his days.
แปลเอาความเป็นภาษาไทยว่า :-
(ในสมัยครั้งพุทธกาล) สตรีจะถูกห้ามไม่ให้มีการฝึกฝนทางศาสนาทุกอย่าง แม้ว่า จะมีความยินดีสักเพียงใดก็ตาม เพราะมีความเชื่อกันว่า สตรีไม่สามารถจะไปสู่สวรรค์ได้ด้วยคุณงามความดีของสตรีเอง สตรีต้องไม่บูชาเทพเจ้าและสตรีจะไปสู่สวรรค์ได้ก็โดยการเคารพเชื่อฟังสามีเท่านั้น ไม่ว่าสามีจะโหดร้ายเลวทรามอย่างไรก็ตาม.
นี้คือความเหลื่อมล้ำทางสังคมอันยิ่งใหญ่ ที่ทำให้บทบาทของเหล่าสตรีตกต่ำไร้คุณค่าพระพุทธองค์จึงสร้างปรากฏการณ์ด้วยความคิดอันมีคุณธรรมขึ้น ในประเทศอินเดียด้วยพระองค์เอง คำสั่งสอนของพระองค์ยึดมั่นอยู่ในธรรมชาติของชีวิต ที่เป็นจริงและความสิ้นสุดของชีวิตด้วยหลักกรรม และการท่องเที่ยวไปสู่สังสารวัฏจึงสามารถเปลี่ยนแนวความคิดต่าง ๆ ของสังคมที่มีต่อสตรีได้ จนถึงปัจจุบันนี้(๒)

เอกสารอ้างอิง
๑.ดู ทักขิณาวิภังคสูตร ม.อุปริ. ๑๔/๓๘๐/๒๓๕
๒.STATUS OF WOMEN IN BUDDHISM by K. Sri Dammanada

วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

เอกายนะมรรค


บรรดาทางที่ปราชญ์มาดประสงค์ ทางมีองค์แปดเลิศประเสริฐสุด
บรรดาธรรมทั้งผองของสัมพุทธฯ บทสี่อุตมะล้ำธรรมมุนินทร์
ยอดแห่งธรรมประชุมลงองค์พุทธะ วิราคะเป็นเลิศประเสริฐศิลป์
สัตว์สองเท้าผู้ก้าวเดินบนแผ่นดิน หายลยินที่เพียบพร้อมเท่าจอมมุนี
ไม่มีมรรคาใดในโลกธาตุ เพื่อสะอาดแห่งทรรศน์จำรัสศรี
ทางเอกนั้นท่านทั้งมวลควรจรลี อันเป็นที่ลวงมารให้ผ่านไกล
เธอทั้งหลายจงดำเนินบนทางนั่น จักสร้างสรรหิตสุขทุกข์กษัย
เราทราบเรื่องสลัดศรอันชอนไช จึงขานไขพวกเธอเพียรเรียนคัมภีร์
ตถาคตทั้งหลายเพียงผู้บอก พวกท่านออกปฏิบัติชัดวิถี
เพ่งพินิจกิจการฌานเมธี พ้นด้วยดีที่ผูกมั่นสรรพมาร
ถ้อยคำแปลธรรมบทจดมาฝาก ค่อนข้างยากเรื่องภาษาพาสื่อสาร
เมื่อลงมือฝึกหัดจัดเป็นงาน มิช้านานย่อมเห็นผลจนแจ้งใจ
เอกอุดมบรมธรรมแห่งสัมพุทธ อยู่บนสุดคือเป้าหมายอันยิ่งใหญ่
วิราคะสิ้นกำหนัดขจัดไป ย่อมห่างภัยพ้นโศกโลกย์เปลี่ยนแปลง
อริยสัจสี่แสนประเสริฐ ชี้บ่อเกิดความจริงยิ่งทุกแห่ง
ทางเปิดเผยชัดสว่างวางแสดง หมดเคลือบแคลงสิ้นสงสัยไปทุกทาง
ความรู้รอบทั้งมวลล้วนปริยัติ ปฏิบัติถึงขั้นจักพลันกระจ่าง
รู้แล้วละเลิกถอยจิตปล่อยวาง ลับลวงพรางไม่มีเส้นนี้ตรง
พระพุทธองค์ช่วยใครไม่ได้หรอก ได้เพียงบอกแนะแนวทางห่างความหลง
หน้าที่เราปฏิบัติอย่างมั่นคง ย่อมถึงฝั่งดังประสงค์มิเนิ่นนาน
ทางสายเอกสายเดียวมิเลี้ยวลด ตัดวงกตเวียนวงคือสงสาร
ไร้เส้นทางอื่นใดไปนิพพาน เชิญทุกท่านตรึกตรองลองทำเทอญฯ

วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553

ปลาหมอตายเพราะปาก

ตา มีหน้าที่ดูอย่างเดียว ธรรมชาติให้ มา ๒ ตา
หู มีหน้าที่ฟังอย่างเดียว ธรรมชาติให้ มา ๒ หู
จมูก มีหน้าที่ดมกลิ่นอย่างเดียว ธรรมชาติให้มา 2 รู
แต่ปาก มีหน้าที่ถึง 2 อย่างคือ ทั้งกินและพูด ธรรมชาติกลับให้มาเพียงปากเดียว แสดงว่า ธรรมชาติต้องการให้คนดูให้มาก ฟังให้มาก แต่ให้พูดน้อยๆ ให้มีสติคอยระมัดระวังปากให้มากนั่นเอง”
จากถ้อยคำที่น่าขบคิดข้างต้นนี้ บอกให้รู้ถึงความสำคัญของปาก ๒ อย่างคือ ๑. หน้าที่พูด ๒. หน้าที่กิน ซึ่งปากต้องทำเป็นประจำทุกวัน ถ้าหากวันหนึ่งๆ ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะรู้สึกอึดอัดมิใช่น้อย โดยเฉพาะคนทั่วๆ ไปที่ไม่เคยอบรมตนมาก่อน ถ้าไม่ได้พูดไม่ได้กินเป็นวันๆ ก็แทบจะเป็นบ้าไปเลยก็ได้ หน้าที่ทั้ง ๒ ต่างก็มีความสำคัญ เพียงแต่หน้าที่กินสำคัญกับตนเอง ส่วนหน้าที่พูดสำคัญทั้งกับตนและคนอื่น
หน้าที่กิน ปากของคนเรายังถือว่าเป็นนายของอวัยวะบางส่วนในร่างกาย ดังคำยืนยันในธรรมนิติว่า “อวัยวะ ๕ ส่วน คือ มือ เท้า ศีรษะ หลัง และท้อง ต้องยอมคำนับ และคอยรับใช้ปากทุกเมื่อ” เช่น มือคอยป้อนข้าว เท้าคอยเดินหา ศีรษะหลังท้องพร่องสักครา ก็เรียกหาปากวานขานให้ทำ ปากใช้ลำเรียงอาหารเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายให้มีเรี่ยวแรงมีกำลังในการทำงาน ในการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป ถ้าหากเราลำเรียงสิ่งไม่ดีเข้าไปก็ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมาหรืออาจถึงแก่ชีวิตก็เป็นได้ หรือถ้าบริโภคอาหารที่ดีแต่มากเกินเข้าไป ก็จะทำให้อึดอัดหรือเป็นสาเหตุแห่งโรคฮิตในปัจจุบันคือโรคอ้วนตามมาก็ได้ ดังนั้น เพื่อสุขภาพกายที่สมบูรณ์ทางออกที่ดีก็ต้องยึดหลัก โภชเนมัตตัญญุตา คือความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้องจนเกินไป
หน้าที่พูด ซึ่งเป็นหน้าที่ที่มีอิทธิพลยิ่งทั้งต่อคนพูดและคนฟัง และจะได้นำมาเจียระไนให้รู้ว่ามันมีประโยชน์และมีโทษต่อชีวิตอย่างไรบ้าง โบราณสอนนักสอนหนาและยังจัดอันดับปากไว้เป็นอันดับหนึ่ง ดังที่ว่า...ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรา... เพราะผู้มีปากเป็นเอก ก็คือผู้เป็นยอดของนักสื่อสารที่ดี มีวจีไพเราะ พูดเสนาะโสต เหมือนสุภาษิตไทยที่ว่า "พูดดีเป็นศรีแก่ปาก" นั่นเอง รองลงมาก็คือ เลขเป็นโท หมายถึงกระบวนการทำงานยังถือว่าเป็นรองการพูดจา อันดับต่อมา หนังสือเป็นตรี มีวิชาความรู้ดีก็ยังเป็นรองการพูด คือถึงจะเป็นคนมีความรู้สูง แต่ถ้าปากไม่ดีเสียแล้ว ย่อมหวังความเจริญในชีวิตได้ยาก อันดับสุดท้าย ชั่วดีเป็นตรา หมายถึงผลสัมฤทธิ์ของงานที่ดีและไม่ดี จะเป็นสิ่งเดียวที่ตราไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้กล่าวขานชื่นชมหรือประณาม
พระพุทธศาสนาบอกว่า ปากของคนเรานั้นมีอยู่ ๓ รส คือ เหม็น, หอม, และหวาน คนปากเหม็น เรียกว่า “คูถภาณี” ได้แก่ผู้ที่มีปกติพูดปดมดเท็จจนคนทั้งหลายเกลียดชัง ไม่เชื่อถือถ้อยคำ ยิ่งพูดยิ่งทำลายตนเอง คนปากหอม เรียกว่า “ปุบผภาณี” ได้แก่คนที่พูดจริง พูดคำสัตย์ ไม่โกหกพกลมแม้เป็นเรื่องเข้าข้างตนเองจนคนนิยมเชื่อถือถ้อยคำ คนปากหวาน เรียกว่า “มธุรภาณี” ได้แก่คนที่พูดไพเราะเพราะพริ้งนิ่มนวลชวนฟัง รื่นหู ดูดดื่ม จับใจ ฟังไม่รู้จักเบื่อ สุนทรภู่ บรมครูกวีของไทยได้ประพันธ์ถึงปากไว้อย่างจับใจว่า “อันรสปากหากหวานก็หวานเด็ด บอระเพ็ดก็ไม่มากเหมือนปากขม มีดว่าคมก็ไม่มากเหมือนปากคม รสหวานขมก็ไม่มากเหมือนปากคน”
นักปราชญ์ถึงกับยกย่องปากว่าเป็นยอดอาวุธ อาวุธใดๆ ในโลกนี้จะวิเศษเลิศล้ำไปกว่าอาวุธปากเป็นไม่มี เราจะใช้พูดให้คนเป็นหรือให้คนตายก็ได้ ดังกวีที่ว่า “อาวุธใดในพิภพไม่ลบปาก ถึงน้อยมากฟันฟาดขาดเป็นสิน จะเป็นตายดีร้ายจะขายกิน ในโลกสิ้นสามภพจบเจรจา”
คำพูดหรือวาจาของคนเรานั้น เป็นเสมือนดาบสองคม ถ้ารู้จักพูดก็สามารถทำศัตรูให้เป็นมิตรได้ ขณะเดียวกันถ้าไม่รู้จักพูดก็สามารถทำมิตรให้เป็นศัตรูได้ในชั่วพริบตาเช่นกัน อีกประการหนึ่ง คนเราจะประสบความสำเร็จได้รับความเจริญก้าวหน้าในชีวิตก็เพราะอาศัยวาจาที่ดีจากปาก แต่ก็เพราะวาจาชั่วที่ออกจากปากเพียงคำเดียวบางครั้งแม้แต่ชีวิตก็ยากจะรักษาไว้ได้ หรือไม่รู้จักสำรวมระวังปากพูดมากเกินไปไม่รู้จักกาลเทศะ ก็อาจนำพาตัวให้ฉิบหายได้ ดังเรื่องลูกหงส์กับเต่า เรื่องมีอยู่ว่า ในอดีตกาลมีเต่าอาศัยอยู่ในสระแห่งหนึ่งในหิมวันตประเทศ ลูกหงส์ ๒ ตัว ก็ไปเที่ยวหากินอยู่แถวนั้น ได้รู้จักกัน ลูกหงส์จึงชักชวนให้เต่าไปเที่ยวในถ้ำทองที่ภูเขาจิตตกูฏ เต่าฉงนใจว่าจะไปยังถ้ำทองบนภูเขาจิตตกูฏได้อย่างไร ลูกหงส์บอกว่าจะพาไปเอง แต่ขอให้เต่าระวังปาก อย่าพูดเป็นเด็ดขาด เต่าด้วยความอยากไปจึงตอบตกลงว่า แค่นี้เรื่องจิ๊บจ๊อย ลูกหงส์จึงให้เต่าคาบไม้ตรงกลาง ส่วนลูกหงส์คาบปลายไม้ตัวละข้าง บินไปในอากาศ เด็กชาวบ้านเห็นเข้าก็ตะโกนบอกกันว่า “หงส์หามเต่าๆ” เต่ารู้สึกคันปากมุมมิมๆ ก็เลยลืมตัวทั้งลืมคำสัญญาที่ให้ไว้กับลูกหงส์เสียสนิท จึงอ้าปากตะโกนตอบเด็กไปว่า “กงการอะไรของพวกเองว่ะ” แค่นั้นแหละเต่าก็หลุดร่วงจากท่อนไม้ ลอยละลิ่วปิวละล่องตกลงที่ท้องสนามหลวงในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพาราณสี กระดองแตกแยกเป็น ๒ ส่วน ตายสนิท
เรื่องนี้ชี้ให้เห็นชัดว่า การพูดไม่ถูกกาลเทศะมีแต่ให้โทษ เหมือนเต่าที่ต้องตายเพราะพูดไม่ถูกเวลา ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงเตือนให้ระวังว่า “วาจาย สํวโร สาธุ ระวังปากไว้ได้นั่นแหละดีที่สุด” และยังเป็นมงคลอันสูงสุดแก่ชีวิตอีกด้วย การนำเรื่องปากมาฝากไว้เป็นข้อคิดสะกิดใจเพื่อทุกท่านจะได้ระวังปากมากขึ้น อย่างน้อยๆ ก็ได้รักษาศีลข้อ ๔ ซึ่งตอนนี้สังคมไทยหรือสังคมโลกต่างขาดแคลนคนพูดคำสัตย์จริงกันทั้งนั้น ระวังปลาหมอจะตายเพราะปาก ปลาหมอมันพูดไม่ได้ แต่มันผุดขึ้นมาพ่นน้ำเหมือนเย้ยว่า กูอยู่นี่ๆ คนหาปลาจึงจับมันได้ ปลามีชีวิตยืนยาวอยู่ได้ก็เพราอาศัยปากเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็เพราะปากนั้นเอง ปลาจึงต้องติดเบ็ดเสียชีวิตโดยง่าย ในโลกนี้จึงไม่มีอะไรที่เย็นชื่นเหมือนการแย้มพรายของปากคนดี ขอยืนยันด้วยบทกวีนี้ส่งท้ายก็แล้วกันว่า
อันแก่นจันทน์เย็นชื่นในพื้นโลก แสงเดือนโกรกเย็นนั้นกว่าจันทน์หลาย ปากคนดีแช่มชื่นเมื่อแย้มพราย เย็นมากมายกลบเกลื่อนซึ่งเดือนเพ็ญ...

วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2553

สุขภาพ สมุนไพร ตอน 2

คำคม-สุภาษิต “ยามใดใจดี ก็เป็นบุญ ยามใดใจวุ่นเป็นบาป”
เมื่อเรามีโอกาสได้ทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง เราจะมีความรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ว่าเราได้ช่วยคนผู้นั้น ช่วยคนผู้นี้ หรือเราได้ทำบุญอย่างนั้น เราได้ทำบุญอย่างนี้เป็นต้น เป็นเหตุให้นำมาซึ่งความสุข ความสุขที่ได้จากการทำความดีนี้เองท่านเรียกว่าใจดีเป็นบุญ ในลักษณะตรงกันข้าม มีสิ่งมายั่วยุเราให้สร้างสิ่งไม่ดีไม่งาม ตามอำนาจแห่งความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น ซึ่งท่านเรียกว่ามันเป็นกิเลสและมีอำนาจให้เราสร้างกรรมชั่วต่างๆ เป็นเหตุให้เราต้องประสบทุกข์เป็นอันมาก ท่านเรียกว่าใจวุ่น เป็นบาป ท่านจึงว่า “กรรมใดทำแล้วให้ความสุขใจในเบื้องหลัง ให้ความสมหวังในเบื้องหน้า กรรมนั้นควรทำ” แต่ถ้า “กรรมใดทำแล้วให้ความทุกข์ใจในเบื้องหลัง ให้ความผิดหวังในเบื้องหน้า กรรมนั้นก็ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง”


สุขภาพ-วันนี้นำเสนอเนื้อความสุขภาพจิตอันเกี่ยวเนื่องกับกรรมที่มีผลกระทบกับสุขภาพจิต ก็พอดีได้เปิดเว๊ปไซด์ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเกี่ยวกับน้ำมันปลารักษาโรคจิต เลยคัดลอกทั้งดุ้นมาให้ท่านได้อ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้...
น้ำมันปลา รักษาโรคจิต แพทย์ตื่นเต้นอาจใช้รักษาแทนยาได้
ทีมนักวิจัยนานาชาติได้พบในการทดลองว่า การกินแคปซูลน้ำมันปลาทุกวัน จะช่วยป้องกันผู้ที่ล่อแหลมกับโรคจิตมากที่สุด ให้ห่างจากโรคได้ ปรากฏว่า หลังจากที่กินมานาน 3 เดือน สามารถจะหนีห่างโรคจิตเภทได้ถึง 1 ใน 4... พวกเขาเชื่อว่ากรดไขมันโอเมกา-3 ในน้ำมันปลา ซึ่งถูกยกย่องว่าบำรุงสุขภาพหัวใจ จะต้องมีส่วนช่วยบำรุงสมองด้วย วารสาร "จิตเวชวิทยา" ของสหรัฐฯ รายงานผลการศึกษาว่า ผลการทดลองที่แสดงว่า อาจใช้สารในธรรมชาติ ช่วยป้องกันหรืออย่างน้อยก็ชะลอโรคจิตได้ ช่วยสร้างความหวังว่า จะเป็นหนทางรักษาโดยไม่ต้องใช้ยาทางใหม่ ผู้เชี่ยวชาญอีกผู้หนึ่งกล่าวว่าหากว่าสามารถรักษาคนหนุ่มด้วยน้ำมันปลาเราอยากได้มากยิ่งกว่ายามากนัก"ปรากฏว่า พวกยารักษาโรคจิตมักจะมีฤทธิ์แรงและมีอาการข้างเคียงต่างๆ จนทำให้คนไข้บางคนพากันหลบ ในการทดลอง คราวที่แล้วมา มีคนไข้ที่ให้กินน้ำมันปลาแล้วยังเป็นโรคเพียง 2 ราย เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้กิน พากันเป็นมากถึง 11 ราย.
-สมุนไพรไทย-
เมื่อฉบับที่แล้ว ได้พูดถึงประโยชน์ที่ได้จากการใช้สมุนไพร 3 ชนิด คือ ถั่วเขียว ชุมเห็ดไทย และ เดือย หรือมะเดือย วันนี้จะพูดถึงลักษณะของพืชนั้นๆ ดังนี้
ถั่วเขียว -เป็นพืชล้มลุก ใบประกอบ มีใบย่อยสามใบ เป็นรูปหอกสมัยหินทู่ๆ ดอกสีเหลือง ฝักกลมยาว 3-5 นิ้ว มีขนสีน้ำตาล เมล็ดสีเขียว ปลูกเป็นอาหาร ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีสรรพคุณทางยา ดังนี้
เมล็ด มีรสมัน ขับปัสสาวะ แก้เหน็บชา แก้ร้อนใน บำรุงร่างกาย บำรุงไขข้อ เสริมหมอนรองกระดูกให้แข็งแรง เปลือกเมล็ด รสจืดเย็น แก้ร้อนใน ต้มแล้วเอามาพอกแก้พิษต่างๆ ได้ดี
ชุมเห็ดไทย (ไม่ใช่ชุมเห็ดเทศ) -มีชื่อเรียกได้หลายชื่อ เช่นชุ่มเห็ดเขาควาย ชุมเห็ดนา ชุมเห็ดเล็กพรมดาน เล็บเหมื่นน้อย เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก สูงประมาณ 2-4 ฟุต ใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยรูปไข่ ปลายและโคนแหลม ดอกช่อกลีบสีเหลือง 4 กลีบ ฝักเป็นแท่งสีเหลี่ยมแบนๆ ยาว 10-15 เซนติเมตร เกิดตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีสรรพคุณทางยา ดังนี้
ใบ รสเมา เป็นยาระบาย
เมล็ด รสขมเมา รักษาโรคผิวหนัง คั่วชงเอาน้ำกินบำรุงประสาท แก้นอนไม่หลับ แก้กษัย ขับปัสสาวะ แก้ตาแดง (ชงกิน) ตามัว ขับอุจจาระ แก้ตับอักเสบ แก้ตับแข็ง บำรุงกำลัง รูถ่ายเปิดปิดเอง ลดความดันโลหิตสูงเป็นการชั่วคราว บดผสมน้ำมันพืชทาแก้หิด กลาก เกลื้อน
ทั้งต้น (ราก, ต้น , ใบ, ดอก, ฝัก) รสเมา แก้ไข้ ขับพยาธิในท้อง แก้ไข้หวัด กล่อมตับให้อยู่ในสภาพดี ทำให้ตาสว่าง (ต้มเอาน้ำดื่ม)
เดือย มีชื่อเรียกได้หลายชื่อ เดือยหิน มะเดือย ลูกเดือย เป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้า อายุปีเดียว ใบรูปหอก ยาวเรียว ปลายแหลม ผิวสาก ดอกไม่สมบูรณ์เพศ ผลกลม เปลือกแข็ง สีข้าวนวล ปลูกเป็นอาหารในเขตร้อนทั่วไปชนิดที่มีเปลือกแข็งมากๆ เขาเรียกว่าเดือยหิน มีเนื้อน้อย ปลูกไว้เพื่อทำลูกประคำ เดือยมีสรรพคุณทางอาหารและยาดังนี้
เมล็ด รสมันเย็น แก้หลอดลมอักเสบ ขับปัสสาวะ แก้น้ำคั่งในปอด แก้ปอดอักเสบ นำมาหมักได้แอลกอฮอลใช้รักษาโรคข้ออักเสบ เนื้อในเมล็ดใช้เป็นอาหารสำหรับคนฟื้นไข้ แก้เหน็บขา บำรุงแข็งขาให้แข็งแรง
ราก รสขื่น ชงดื่มขับพยาธิในเด็ก
ฉบับนี้เห็นจะพอกันแค่นี้ก่อนนะครับแล้วมาพบกันใหม่ฉบับหน้า มีข้อสงสัยประการใด ก็สอบถามกันมาได้นะครับที่ Mraksa@hotmail.com ขอให้ทุกท่านสุขภาพดี มีความสุตลอดกาลนาน นะครับ ด้วยรอยยิ้ม และความปรารถนาดีเช่นเดิมคร๊าบ..บ..บ

วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553

ว่าด้วย “ความรู้”

ไม่มีใครที่รู้อะไรๆ ไปหมดทุกอย่าง…และไม่มีอะไร ที่ไม่มีใครๆ รู้
มีแต่เรานั่นแหละที่ไม่รู้ว่า ใครรู้อะไร หรือใครไม่รู้อะไร
และ…อะไรที่ใครรู้ หรืออะไรที่ใครไม่รู้
บางคนไม่รู้อะไรๆ แต่ทำท่าว่ารู้…บางคนรู้ แต่ทำท่าว่าไม่รู้อะไรๆ
แต่ที่ว่ารู้นั้น จะรู้จริงหรือไม่…ก็ไม่รู้
ถึงจะรู้จริงๆ…แต่สิ่งที่รู้นั้น จริงหรือไม่…ก็ไม่รู้
อย่าว่าแต่ไม่รู้ว่าอะไร เป็นอะไร…แม้แต่ตัวเราเอง เป็นอะไร…บางทีเราก็ยังไม่รู้
จึงไม่ควรไปสรุปว่าใครรู้อะไร มากกว่าใคร…หรือใครไม่รู้อะไร มากกว่าใคร
แต่ควรจะพิจารณาในสิ่งที่เรารู้ ให้แน่ใจ…แน่ใจว่าควรจะรู้
เพราะเรามีเวลาไม่มากพอ ที่จะรู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้
แม้กระนั้น เราก็มีเวลาน้อยเกินไป ที่จะเรียนรู้ทุกสิ่งที่ควรรู้
จึงควรพิจารณาในสิ่งที่จะเรียนรู้ให้แน่ใจก่อนว่า…จำเป็นต้องรู้
ไม่ใช่อยากเรียนรู้เพราะใครๆ ก็รู้ เลยคิดเอา ว่าเราก็จำเป็นต้องรู้
บางทีจะดีกว่า ถ้าเรารู้ในสิ่งที่ไม่มีใครรู้
แต่จะดีที่สุด ถ้าเรารู้ในสิ่งที่…จำเป็นต้องรู้
เราจำเป็นต้องรู้อะไร ?…ก็การรู้ “ตัวเรา” นั่นแหละจำเป็นที่สุด ที่จะต้องรู้
แล้วตัวเราคืออะไร ?…อย่างแรกที่จำเป็นต้องรู้ คือ รู้ว่าตัวเรา…ไม่ใช่ตัวเรา
ถ้าเราไม่ใช่ตัวเรา แล้วเราเป็นใคร ?…ตัวเราไม่ใช่เรา…แล้วตัวเราก็ไม่ใช่ใครอีกด้วย
งั้นตกลงว่าเรา เป็นอะไร ?…เราก็เป็นแค่อะไรซักอย่างหนึ่งที่คิดเอาเองว่า เป็นเรา
แล้วไม่ได้เป็นเหรอ ?…อืม…จะว่าไม่เป็น ก็ไม่ได้…แต่จะว่าเป็น ก็ไม่ได้
…คือ…มันก็เป็นอย่างที่มันเป็น…ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดว่าเป็น…มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง
แล้วเราไม่ได้เป็นอย่างมันเหรอ ?…ก็เป็นอย่างมันนั่นแหละแต่ไม่ใช่ว่า เราเป็น…แค่คิดเอา ว่าเป็น
งั้นใครล่ะที่คิด…เราคิดไม่ใช่เหรอ ?…คิดก็คือคิด…คิดไม่ใช่เรา…เราไม่ใช่คิด…เราแค่รู้ว่าเราคิด
งั้นใครล่ะที่รู้…เราไม่ใช่เหรอที่รู้ ?…รู้ก็คือรู้…รู้ไม่ใช่เรา…เราไม่ใช่รู้…เราแค่คิดว่าเรารู้
ในเมื่อรู้ก็คือรู้ แล้วทำไมถึงเป็นแค่คิด ?…รู้ก็คือรู้ แต่ไม่มีใครรู้ มีแต่อาการรู้…แต่เราไม่รู้ เลยคิดว่ารู้
ทำยังไงถึงจะรู้ ว่ากำลังคิดว่ารู้ ?…เมื่อกำลังคิดก็ให้รู้ว่ากำลังคิด…กำลังคิด ไม่ใช่กำลังรู้
…ถ้าไม่รู้ว่า กำลังรู้ว่ากำลังคิด ก็จะคิดไปว่ารู้…แต่ความจริงก็คือไม่รู้ว่ากำลังไม่รู้ ว่ากำลังคิด
…คิดก็เกิดจากเหตุของคิด…คิดไม่ได้เกิดจากเรา…เราไม่ได้ทำให้เกิดคิด…อย่าไปคิดเลยว่า เราคิด
…คิดก็เกิดพร้อมๆ กับรู้ว่าคิด…แต่ไม่มีใครรู้…ไม่มีใครคิด…มีเพียงแค่ “คิด” กับ “รู้ว่าคิด”
แล้วใครล่ะที่รู้ว่าคิด ?…ถามซ้ำอีกแล้ว…บอกแล้วว่า…ไม่มี “ใคร” รู้…ไม่มี “ใคร” คิด…
แล้วมันมาจากไหนล่ะ ?…ก็บอกแล้วว่า…คิดก็เกิดจากเหตุของคิด…เช่นเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่าง…
…เมื่อมีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นก็จะมีอีกสิ่งหนึ่งที่รู้ว่ามีสิ่งนั้นเกิดขึ้น…แล้วทั้งสองสิ่งนั้นก็ดับไป…ก็แค่นั้น
แต่มัน “เกิด-ดับ” เร็วมาก…เจ้าสิ่งที่เข้าไปรู้นั้นมันเลยไม่รู้ว่าดับ…ดับทั้งตัวมัน และสิ่งที่มันรู้…
บางครั้งมันอาจจะรู้ว่าสิ่งที่มันรู้นั้นดับ…แต่มันไม่เคยรู้เลยว่ามันก็ดับไปพร้อมกันนั่นแหละ
เมื่อมันไม่รู้ว่ามันดับ…นั่นก็คือ…มันคิดว่ามันไม่ดับ…มันคิดว่ามันรู้…แต่มันไม่รู้ว่ามันไม่รู้
… … มันโง่ … …
มันเป็นใคร ?…มันก็คือ “ตัวกู” นี่แหละ
พอ “ตัวกู” เกิดบ่อยๆ…มันก็ชินในสิ่งที่มันทำบ่อยๆ…มันก็เก่งในสิ่งที่มันทำบ่อยๆ
แต่ว่า “มันโง่”…มันไม่รู้ว่ามันกำลังทำสิ่งโง่ๆ…เลยทำบ่อยๆ ด้วยความเคยชิน และ…เก่ง
ทำยังไงมันถึงจะ “ไม่โง่” ?…ก็แค่ทำให้มัน “รู้” ว่า…มันไม่ใช่มัน…เราไม่ใช่เรา…กูไม่ใช่กู
นี่แหละคือ “ความรู้” ที่จำเป็นที่สุด ที่จะต้องรู้…


ป.ล. : อ่านค่อยๆ (เดี๋ยวคนฟัง..บ้า)…ค่อยๆ อ่าน (เดี๋ยวคนอ่าน..บ้า)…อ่านด้วยใจ…(เดี๋ยวก็เข้าใจ)…

จากใจบอกอ...ขอต้อนรับสู่สปริง

สวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านทั้งหลาย เดือนเมษายนมีประเพณีที่สำคัญ คือ ประเพณีสงกรานต์หรือปีใหม่ของชาวเอเชียเรา มีการเปลี่ยนแปลงทางฤดูกาลในพื้นที่ต่างๆ ขอโลก ทำให้อุณหภูมิในบางพื้นที่เริ่มร้อนขึ้น บางพื้นที่ร้อนมาก โดยเฉพาะในประเทศไทย หากแต่ไม่ใช่ร้อนแค่อากาศ บรรยากาศอย่างอื่นก็ร้อนด้วย จะร้อนอย่างไรก็แล้วแต่ ขอให้ทุกคนใช้น้ำใจช่วยดับความร้อนอันนี้ให้หมดไป
ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่นี้ ไม่มีอะไรเป็นของกำนัลให้กับท่านผู้อ่านทั้งหลาย จึงขอนำบทกลอนของท่านพุทธทาส ฝากไว้เป็นข้อคิดหรือน้ำชโลมจิตใจให้คลายร้อน ดังนี้
ปีใหม่มี สำหรับดี กว่าปีเก่า
พืชมีเหง้า ครบปี ทวีหัว
ทั้งขนาด และจำนวน ล้วนเกินตัว
แต่คนชั่ว กลับถอยถด ดีลดลง
คือปีหน้า เลวลงกว่า ในปีนี้
ไม่กี่ปี จะหมดดี เพราะมีหลง
รู้สึกตัว ละชั่ว, เพราะเห็นตรง
ดีจะคง ดีขึ้นไป ชื่นใจเอยฯ
กลับมาพูดเรื่องวารสารของพวกเราดีกว่า ฉบับนี้ก็เป็นฉบับที่ ๒ หรือฉบับต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ(ในประเทศสหรัฐอเมริกา)ที่กำลังย่างกรายเข้ามา ปีนี้หลายมลรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาต้องประสบภาวะหนาวเหน็บและความยุ่งยากจากสโนว์ที่มีมากเกินไป บางมลรัฐหิมะไม่เคยตกก็ตก เช่น มลรัฐฟลอริด้า บางมลรัฐไม่เคยตกเยอะ แต่ปีนี้ตกเยอะ เช่น แมรี่แลนด์, เวอร์จิเนีย และวอชิงตันดีซี เล่นเอาประชาชนในหลายพื้นที่ตั้งรับแทบไม่ทัน
ช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้คนทั่วโลกต่างกล่าวถึงเรื่องภาวะโลกร้อน(Global warming)และองค์กรต่างๆ พยายามรณรงค์ กระตุ้นเตือนให้ประชาคมโลกตื่นระวังเกี่ยวกับการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อโลกของเรา อันที่จริงเราต่างก็รู้เรื่องเหล่านี้ดีว่าควรทำอะไร อย่างไร แต่จะมีสักกี่คนที่ไม่หยุดอยู่แค่รู้ แต่ลงมือปฏิบัติจริง เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นที่เฮติต่อมาจนถึงชิลี ทำให้คนในโลกได้สำนึกมากขึ้นว่าเราทำลายธรรมชาติมากไปหรือเปล่า...เราควรจะทำสักอย่างเพื่อโลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่...พวกเราต่างรู้ว่าจะทำอย่างไร เริ่มต้นจากตัวท่านก่อน ลำดับต่อมาคือคนในครอบครัว สังคม และประเทศชาติของท่าน แต่พวกเราจะเอาชนะมารร้ายในใจของพวกเราทำสิ่งที่ถูกต้องได้หรือป่าว...? หรือพวกเราจะให้ความฟุ่มเฟือย ความโลภ และความเห็นแก่ตัวทำลายโลกใบนี้และตัวเราในที่สุด
ช่วงเดือนเมษายน ชุมชนไทยในมลรัฐต่างๆ ของอเมริกามีการจัดประเพณีสงกรานต์ โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางในการจัดงานแสดงวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามนี้ เป็นสิ่งที่น่ายกย่องสรรเสริญ และควรภาคภูมิใจในวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของตนเอง ชาวพุทธไม่ควรน้อยเนื้อต่ำใจในวัฒนธรรมและความเชื่อของตัวเอง แต่สิ่งที่เราไม่ควรภูมิใจคือการทำความชั่ว หรือเป็นคนชั่ว
วารสารฉบับนี้ยังคงอัดแน่นไปด้วยเนื้อหาสาระมากมาย อยากให้ผู้อ่านลองอ่านบทความแต่ละบทหลายๆ ครั้ง เพราะบางครั้งการอ่านก็ขึ้นอยู่กับเวลา อารมณ์ และบรรยากาศด้วยเหมือนกัน เคยสังเกตไหมว่า ภาพยนตร์บางเรื่องดูในเวลาหนึ่ง ช่วงอารมณ์หนึ่ง อาจจะคิดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราดูกับเพื่อน อาจจะคิดหรือมีมุมมองที่เปลี่ยนไป
ก่อนจะอำลากันไป ขอกล่าวคำว่า สวัสดีปีใหม่ ขอให้มีความสุข ความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน ยิ่งๆ ขึ้นไป อย่าลืมละ ความสุข ความเจริญ ไม่ได้เกิดขึ้นเองนะ ต้องทำด้วยตนเอง ตามแบบฉบับชาวพุทธ....สวัสดี พบกันใหม่ฉบับหน้า

วารสารธรรมะทูโกฉบับเดือนมีนาคม(File word)

วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553

Dhamma Talks and Chanting Club in VA.

For more information just click here
http://forum.thai-institute.com/forum/topics/why-is-chanting-important-to

Why is chanting important to the Buddhists? The connection between chanting and meditation.

"In the first place, it is a way in which the teachings of the Buddha are brought to mind. The chants represent a significant number of Buddhist texts that can teach as well as inspire.

Secondly, chanting is important because it effects the purification of the mind in two ways. Chanting purifies insofar as the words are a guide for banishing evil from the mind and directing thoughts toward the true and the good.... Chanting was taught by the Buddha as a direct route to Enlightenment. In this regard, chanting can help develop the perfections of morality, resolution, truthfulness and generosity.

Thirdly, chanting serves to provide a kind of emotional relief from troubles of daily life and contemporary society. In the way in which it can calm and focus the mind it is somewhat akin to the more powerful sitting meditation. Furthermore group chanting not only provides emotional relief but also a sense of belonging and common purpose as the chanters together engage in the purification of their minds together.

Fourthly, chanting is important because it is a way of paying respect to the Triple Gem, the Buddha, the Dhamma, and the Sangha - the Enlightened One, the Path to Enlightenment, and the Community of Monks. For instance, it is out of respect and humility that we fold our hands and bow three times, first to the image of the Buddha, then to the Dhamma and, finally to the Sangha."

บทความพิเศษ “บทบาทพระธรรมทูตไทยในต่างแดน”
โดย ดร.พระมหาถนัด อตฺถจารี
เลขาธิการสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา

พระพุทธศาสนาพันธุ์ใหม่ในอเมริกา (มุมมองของพระธรรมทูตไทย)

เมื่อพูดถึงความเจริญเติบโตของพระพุทธศาสนาในอเมริกา เราผู้ที่เป็นเจ้าของต้นตำหรับก็อดดีใจไม่ได้ เหมือนกับพ่อค้าแม่ขายที่นำเสนอสินค้าไปแล้วเป็นที่ถูกอกถูกใจของลูกค้า ติดตามซื้อกันอย่างโกลาหล โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพระธรรมทูต ผู้ที่ทำหน้าที่ประกาศและเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าสู่จิตใจของประชาชน ก็ยิ่งภูมิใจใหญ่เลยที่มีผู้นับถือพระพุทธศาสนามากขึ้น มีวัดและศูนย์ปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วสหรัฐอเมริกา

การที่พระพุทธศาสนาเข้ามาอยู่ในสังคมอเมริกันได้อย่างรวดเร็ว ก็อาจจะมีเหตุผลหลายประการที่เป็นสิ่งเอื้ออำนวยให้การแพร่ขยายของคำสั่งสอนไปถึงผู้นับถือได้อย่างรวดเร็ว เช่นการเดินทางด้วยรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบิน ซึ่งรวดเร็วกว่าการเดินเท้า และการใช้ล้อใช้เกวียนแบบสมัยโบราณอยู่แล้ว ยิ่งตอนนี้มีเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยและรวดเร็วยิ่งกว่ากระพริบตาเสียอีก เช่น การส่งคลื่นวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร และอินเตอร์เน็ต เวปไซด์ ไปรษณีย์อีเล็คทรอนิค(อีเมล์) ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องมือในการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนได้ทั้งสิ้น
นอกจากนั้นกระแสความนิยมพระพุทธศาสนาในอเมริกาก็มาจากตัวอย่างผู้คนในสังคมหลักที่ทำหน้าที่สื่อสารกับมวลชน เช่นพวกดาราภาพยนตร์ฮอลลีวูด ที่หันมานับถือพระพุทธศาสนา นักกีฬา นักดนตรี ที่มีชื่อเสียงและผู้คนอื่น ๆ ที่มีหน้ามีตาในสังคมอเมริกันประกาศตัวเป็นชาวพุทธ ล้วนแต่เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ให้พุทธศาสนาโดงดังขึ้นมาอย่างรวดเร็ว การนับถือพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นแฟชั่นเท่านั้น แต่เป็นการแซกซึมเข้าไปอยู่ในกระแสหลักของสังคมและวัฒนธรรมอเมริกันเสียแล้ว

ความภาคภูมิใจของชาวพุทธเอเซีย กับการขยายตัวของผู้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างรวดเร็ว และการที่เราจะฝากความหวังไว้กับสังคมอเมริกันให้ดูแลพระพุทธศาสนานั้น เป็นสิ่งที่เราควรจะนำมาวิเคราะห์ ตามหลักจิตวิทยา และในแง่สังคมแบบบริโภคนิยม และวัตถุนิยมสูงแบบคนอเมริกันคิด ชาวพุทธเอเชียอาจจะนึกไม่ถึงว่า มีจำนวนชาวอเมริกันไม่น้อยที่คิดว่า ตนเองเป็นชาวพุทธที่ดีกว่า จริงใจกว่า รู้เรื่องมากกว่าชาวเอเชียด้วยซ้ำไป เหตุผลที่เขากล่าวเช่นนี้ก็คงเป็นเพราะมาจากวัฒนธรรมพื้นฐานของคนอเมริกันที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากอำนาจทางเศรษฐกิจ การทหาร และการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก บวกกับนิสัยลึก ๆ ที่ติดตัวมาก่อนแล้วเรื่องการ เหยียดผิว และทนงตนว่าเป็นชาติอารยธรรมกว่าชาติอื่น ๆ ในโลก
พระพุทธศาสนาแบบอเมริกันสไตล์จึงเกิดขึ้น ถึงแม้จะยังไม่ประกาศเป็น ลัทธิ หรือ เป็นนิกายที่ชัดเจนก็ตาม แต่แนวคิด และแนวทางปฎิบัตินั้นบ่งบอกออกมาในลักษณะเฉพาะตัว เช่น การไม่เน้นเรื่องการทำบุญให้ทาน เผื่อแผ่เจือจานแบบสังคมพุทธในทวีปเอเชีย สังคมอเมริกันมีอุดมคติว่า ทุกคนต้องช่วยตัวเอง ไม่ควรจะพึ่งรัฐ หรือผู้อื่นมากจนเกินไป และความคิดที่ว่า ไม่มีคำว่าฟรีในสังคมวัตถุนิยม ทำให้มีกลไกทางการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องในสังคมพุทธของชาวอเมริกันมากขึ้น เช่มเมื่อมีการตั้งสำนักปฏิบัติธรรมขึ้นมาแล้วก็จะมีการโฆษณาตัวเอง เหมือนสินค้า หรือ การขายบริการ ซึ่งถ้าคิดดูให้ดี ๆ แล้วก็ไม่ต่างไปจากโรงแรม หรือสถานเริงรมย์ทั้งหลาย ถึงแม้จะไม่ทำในลักษณะที่น่าเกลียดเกินไปก็ตาม

สังคมอเมริกัน เป็นสังคมปัจเจกชนมากเกินไป ซึ่งทำให้พระพุทธศาสนาแบบอเมริกันเน้นหนักที่ตัวบุคคลอย่างแรงกล้า อาจจะทำให้ขาดมิติแห่งชุมชนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หรือ ที่เรียกว่า “สังฆะ” และอีกอย่างหนึ่งชาวพุทธอเมริกันบางกลุ่มยังปฏิเสธเรื่องการบวช อาจจะเป็นเพราะกลุ่มแรกที่เข้าไปศึกษาพระพุทธศาสนาสนใจแต่ในเรื่องปรัชญา และการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จึงไม่ค่อยสนใจในเรื่องของนักบวชและพิธีกรรม เขามีความเห็นว่าการศึกษาพระพุทธศาสนา และการปฏิบัติทางจิต ไม่จำเป็นต้องถือเพศบรรพชิต บางครั้งถ้าเรามองไปเฉพาะที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนาก็ลงมือปฏิบัติได้เลย ไม่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมมากนัก แต่ว่าต้นไม้ใหญ่นั้นก็ต้องมีทั้งเปลือกและแก่น ถ้าไม่มีเปลือกห่อหุ้มแก่นก็อยู่ไม่ได้ จะเห็นว่าในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา การบวชเป็นสถาบันหนึ่ง หรือ เป็นพุทธบริษัทหนึ่งที่พระพุทธองค์ฝากพระพุทธศาสนาไว้ให้ช่วยกันจรรโลงและเผยแผ่ เพราะว่ามีนักบวชนี่แหละ จึงทำให้สามารถรักษาคำสั่งสอนและวิถีชีวิตแบบพุทธเอาไว้ได้จนตราบเท่าทุกวันนี้

หันมามองพุทธศาสนาแบบไทยในอเมริกา
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งธรรมทูตศาสนาแรกของโลก แต่พระธรรมทูตในพระพุทธศาสนาไม่ต้องการที่จะไปเปลี่ยนศาสนา หรือ ความเชื่อของใคร หากแต่ประสงค์เพื่อที่จะแบ่งบันความสุขสงบร่มเย็นภายในให้แก่เพื่อนร่วมโลก คือ เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทุกคน
งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบไทย ได้เริ่มขึ้นไม่นานคือประมาณ ๓๐ กว่าปีมานี้เองที่ได้มีการสร้างวัด และศาสนสถานขึ้นมาในชุมชนคนไทยตามรัฐต่าง ๆ ทั่วอเมริกา และงานเผยแผ่ หรือ วัตถุประสงค์ในการสร้างวัดในยุคแรกก็เพื่อสนองความต้องการของชุมชนเท่านั้น เรียกว่าพระสงฆ์มาทำหน้าที่รักษา “ศรัทธา” ของชาวพุทธที่ต้องการที่จะมีวัด หรือ มีพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้แก่ชุมชนนั้น ๆ และก็เป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ยังไม่เป็นระบบ แม้แต่การคัดเลือกพระธรรมทูตที่จะให้มาปฏิบัติศาสนกิจก็เดินทางมาตามครูบาอาจารย์ที่เคยมาอยู่ก่อนแล้วเท่านั้น ไม่ได้คัดสรรคุณภาพ หรือ ความต้องการของชุมชน

งานอบรมพระธรรมทูตอย่างเป็นระบบได้เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และกรมการศาสนา จัดเป็นหลักสูตร อบรมพระสงฆ์ที่ต้องการจะไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ และต่อมาได้พัฒนาหลักสูตรและวิธีการสอบคัดเลือก เพิ่มกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากมายจนได้พระธรรมทูตในอุดมคติ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้อบรมผ่านไปแล้ว ๑๕ รุ่น
งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยพระธรรมทูตรุ่นใหม่ก็ยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้า และผลที่ได้รับยังไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าที่ควร เพราะเกิดจากปัญหาและอุปสรรคหลาย ๆ อย่าง และประเด็นหลักก็เพื่อรักษาศรัทธาของคนชาติเดียวกันมากกว่าที่จะมุ่งเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวต่างชาติ และส่วนใหญ่ในการสร้างวัด เพื่อประะกอบพิธีกรรมให้กับคนไทย หรือ ชาวพุทธที่นับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ลาว เขมร เวียตนาม จีน และวัดไทยในชุมชนคนไทยในต่างแดนกลับทำหน้าที่เพื่อเป็นตัวแทนแห่งวัฒนธรรมไทย แทนที่จะนำหลักธรรมเข้าสู่จิตใจอย่างลึกซื้ง
อยากจะขอนำคำพูดของครูบาอาจารย์หัวหน้าโครงการพระธรรมทูต มจร.ของเราที่เคยให้ฉายาพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกาว่า “พระธรรมทูตแบบกระทิงแดง” หมายความว่า พระธรรมทูตที่มาทำหน้าที่ส่วนใหญ่จะสนองความต้องการของคนไทย และคนเอเชียเท่านั้น เหมือนเครื่องดื่มชูกำลังชนิดหนึ่งยี่ห้อ กระทิงแดง มีการโฆษณาว่า เดี๋ยวนี้มีการส่งขายทั่วโลก แต่ปรากฏว่าผู้ที่ซื้อดื่ม ก็คือคนไทย และคนที่อพยพไปจากเอเชียด้วยกัน ประชาชนเจ้าของถิ่น เจ้าของประเทศเขาไม่ซื้อดื่มกันเท่าไร

ส่วนพระธรรมทูตในอุดมคติ และเป็นที่หวัง ที่พึงปรารถนา คือ พระธรรมทูตแบบ “ต้มยำกุ้ง” หรือ พระธรรมทูตแบบ “ผัดไทย” คือสามารถทำงานเผยแผ่กับชาวบ้านท้องถิ่นได้ คือมุ่งที่เจ้าของประเทศไม่ว่าจะเป็นอเมริกัน หรือ ยุโรป ก็ตามได้เห็นคุณค่า และนำหลักธรรมของพระพุทธศาสนาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ นั่นแหละจึงจะเป็นเหมือนคนไทยที่มาตั้งร้านอาหารไทยในต่างแดน แล้วโฆษณาอาหารไทย โดยเฉพาะต้มยำกุ้ง หรือ ผัดไทย ให้ฝรั่งได้รู้จัก ซึ่งเป็นอาหารโปรดของชาวอเมริกัน และซื้ออาหารไทย(แพง ๆ) กินกันอย่างติดอกติดใจ อยากจะเห็นพระธรรมทูตไทยทำงานในเชิงรุก (ไม่ใช่ไปเปลี่ยนศาสนาเขา) แต่นำความสุขไปให้เขาได้ ความจริงสังคมอเมริกันก็มีปัญหาทางด้านจิตใจมาก ถ้าเขาได้ลิ้มรสพระธรรม จนสามารถแก้ทุกข์ได้ ก็นั่นแหละพระพุทธศาสนาจึงจะแทรกเข้าไปสู่จิตใจ และเข้าสู่สังคมอเมริกันได้อย่างผสมกลมกลืน
นี่เป็นมุมมองหนึ่ง เป็นทัศนะส่วนตัวในฐานะที่เป็นพระธรรมทูตอยู่อเมริกามา ๑๘ ปีได้ทำงานตามหน้าที่สนองงานคณะสงฆ์ไทย และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ตามความสามารถอันน้อยนิด แต่ก็ภูมิใจในตัวเองอย่างน้อยก็ได้นำธรรมะมาสู่ดินแดนส่วนนี้มาจุดประกายไว้ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลัง พระธรรมทูตรุ่นใหม่ได้มีกำลังใจได้สานต่อซึ่งปณิธาณของครูบาอาจารย์ที่ท่านได้เริ่มไว้ดีแล้ว ได้สร้างชุมชนไทยให้มั่นคงโดยมีวัดไทยเป็นศูนย์กลางสืบไป.