รวมข่าวเก่า

  

 เชิญชมคลิปวีดีโองานประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยฯ สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ ๓๖/๒๕๕๕ มาสเตอร์ ธรรมส่องโลก วัดไทย 40 ปี ตอนที่ 3.flv - 4shared.com - online file sharing and storage - download                           กำหนดการและการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานวันเกิดหลวงตา




The meditation workshop at Wat Mongkolratanaram, Tampa, FL 20-22 Jan. 2012 led by Ven.Dr. Thanat Inthisan, Wat Thai,DC.




Meditation in the Buddha HallSitting MeditationListening to the Dhamma talksMeditation Praticed group pictureExercise_MeditationExercise_Meditation
Walking MeditationWalking MeditationWalking MeditationClosing ceremonyCertificate Meditation 2012Wat Mongkolratanaram, Tampa, FL
Walking to the Buddha HallWalking on the Path of the BuddhaWalking meditation on the Path of the BuddhaWalking meditation..
Dhamma talksSpread lovingkindnessWat Mongkol at night timeBuddha HallBreathing exerciseBreathing exercise


ผีเสื้อสมุทรบุกเกาะแมนฮัตตัน

แขกไม่ได้รับเชิญจากนอร์ทคาโลไรนา นามว่าคุณไอรีน พาท้องฟ้ามืดทะมึนพร้อมลมพายุมหาวาตภัย Hurricane Irene มองท้องฟ้าแล้วเหมือนผีเสื้อสมุทรกำลังจะไปตามหาพระอภัยมณีที่เกาะแมนฮัตตัน โดยมี New York City เป็นเป้าหมายเหมือนเกาะแก้วพิสดาร
รัฐแมรีแลนด์ก็อยู่ในเส้นทางเงื้อมมือมารที่ Ocean City และ Chesapeake Bay เมืองสวรรค์วันหยุดพักผ่อน ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ถ้าไม่ใช่จุดหมายหลักเหมือนเวอร์จิเนีย นิวเจอซี่ เพ็นซิลวาเนีย นิวยอร์ก แค่เส้นทางผ่านของพายุลมหอบที่หมุนไปที่จุดไหน ความพินาศจะตามมา เดือดร้อนกันไปทั่ว ขึ้นไปถึง ลองไอส์แลนด์ รัฐอื่นได้แต่ดูจากโทรทัศน์ CNN เกาะติดสถานการณ์ ที่เห็นของจริงก็ที่รัฐแมรีแลนด์ พอ Governor Martin O'Malley ประกาศเป็นรัฐสถานการณ์ฉุกเฉินให้บรรดานักท่องเที่ยวชายหาดและผู้พักอาศัยอพยพหลบภัยออกจากพื้นที่ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2011 ก็เริ่มเกิดอารมณ์ร่วมกับชาวรัฐเวอร์จิเนีย


แผ่นดินไหวเพิ่งจะสั่นบ้านเรือนก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน โครงสร้างบนส่วนบนของ Washington Monument เพิ่งจะเสียหายให้สำรวจตรวจสอบกันเป็นการด่วน ก่อนหน้านี้เพียงวันเดียว ไปเที่ยวชมภายในรัฐสภา Capitol Hill และ Library of Congress วันรุ่งขึ้นแผ่นดินไหว คือวันที่ 23 สิงหาคม กำลังนั่งเขียน “การบ้าน” ส่ง “คุณนิด” หนังสือพิมพ์ไทยแอล.เอ. รู้สึกผิดปกติ เหมือนห้องสั่นตรงส่วนที่เป็นประตู ซึ่งเป็นกรอบและแผ่นประตูที่มีช่องว่างเล็กน้อยตรงส่วนบนและล่าง หันไปดูเห็นว่าบานประตูสั่นแล้วก็หยุดไป จากนั้นไม่นานทั้งสั่นและมีเสียงเหมือนคนทุบประตูดังถี่ๆ นึกว่าหลานมาเคาะ ร้องบอกให้เข้ามาได้ ยิ่งเคาะเขย่าหนักขึ้นจึงลุกไปเปิด เจอหลานจริงแต่เขายืนอยู่ใต้กรอบประตูห้องของเขาถัดไป ตามประสาผู้มีประสบการณ์จากแคลิฟอร์เนีย ต่างก็ร้องบอกกันว่าแผ่นดินไหว ชวนกันวิ่งลงไป ออกไปยืนบนถนนในหมู่บ้าน เจอเพื่อนบ้านที่เป็นนักหนังสือพิมพ์ พาลูกสาวตัวน้อย 2 ขวบออกมาเดินเล่นพอดี ตื่นเต้นแผ่นดินไหว รีบพาลูกกลับบ้าน เมื่อเห็นว่าหยุดไหวแล้ว หลังจากถามเราว่าเคยเจอมาก่อนใช่ไหม เลยเล่าตอนเจอที่ญี่ปุ่น กำลังไหว้พระก่อนนอนที่บ้านพี่ชายซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (B.O.I) ที่ญี่ปุ่น รู้สึกว่าพระพุทธรูปบนหิ้งเคลื่อนที่ได้ นึกว่าท่านสำแดงปาฏิหาริย์ ที่แท้แผ่นดินไหว วิ่งออกมา เจอสมาชิกในบ้านต่างก็ออกมานอกห้องโดยมิได้นัดหมาย อีกครั้งหนึ่งก็ตอนดูที.วี. อยู่ที่ซานโฮเซ่ ที.วี. สั่นเคลื่อนอีกเหมือนกัน


ข่าวสารที่เกาะติดสถานการณ์ปลุกเร้าให้ผู้คนตื้นเต้นและเตรียมรับมือกันเต็มที่ รัฐแมรีแลนด์เต็มไปด้วยลำเนาไพรต้นน้ำลำธาร มองไปทิศไหนในฤดูร้อน ดูเขียวไปด้วยต้นโอ๊ก ต้นเมเปิล สารพัดต้นที่มีใบบางหนาบ้างอ่อนพลิ้วลิ่วลม เวลาลมกระโชกเหมือนจะหอบไปทั้งลำต้นและใบเขียว มีน้ำตกที่รวมลงในแม่น้ำลำธาร รอบอ่าวเชสะพีคเป็นโขดหินดินดอน ชายหาดที่มีรูปลักษณ์ยาวเหมือนคอกวาง เรียกว่าเขต Elk Neck State Park นักท่องเที่ยวที่ชอบท่องป่า นิยมขี่จักรยานไปตามเส้นทางชายป่าชมทิวทัศน์คลื่นลม เป็นแหล่งอาหารปลา ปู มีทั้งปูนิ่ม ปูฟ้า กุ้ง หอย สามารถล่องเรือ ชมสีสันของดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิอยู่ไม่ไกลจากวอชิงตัน,ดี.ซี. และเวอร์จิเนีย เปิดหนังสือท่องเที่ยงเดินทาง เห็นดอก Virginia bluebell สีฟ้าอ่อนใสขึ้นตามซอกหินรายทางมีดอก Maryland Golden Aster สลับสี อยากจะรอชมตอนฤดูอกไม้ผลิ
ธรรมชาติที่สวยงาม รวมทั้งสัตว์ป่า สัตว์บ้าน ผู้คนทั้งหลายกำลังจะถูกมารร้ายพัดผ่าน เพิ่งรู้ว่าแมรีแลนด์มีคุณสมบัติของพื้นที่เป็นเมืองย่อส่วนของอเมริกามารวมกัน (America in Miniature) คือมีสัดส่วนกายภาพของพื้นที่ประกอบกันจากสัดส่วนที่แตกต่างกัน 5 ส่วน คือ พื้นที่ราบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกจากฝั่งตะวันออกไปตะวันตก เรียกว่า Plain in General Coastal Plain ส่วนที่เป็นเนินสูงต่ำสลับกันเป็นจุดๆ ต่อเนื่องกัน เรียกว่า Piedmont ส่วนที่เป็นโขดสันเขาสูงเรียกว่า Blue Ridge และส่วนที่เป็นเนินเขาเรียกว่า ridge
พื้นที่ของแมรีแลนด์กับเวอร์จิเนียเป็นเขตติดต่อกัน ขนาดเฉือนกันแบ่งส่วนให้กับวอชิงตัน, ดี.ซี. ไปบ้าง เวลาฟังเพลง Country Road Take Me Home นึกถึงต้องนั่งรถขึ้นไปตามสันเขา มองดูนกเหยี่ยวเฉี่ยวโฉบเห็นสันเขาสมกับที่เรียกว่า Blue Ridge Mountain มีแม่น้ำ Shenandoah ไหลเป็นงูเลี้ยยอยู่เบื้องล่าง เสียงร้องของ John Denver ดังในห้วงจินตนาการ ถึงคนร้องจะไปปรโลกนานแล้ว เนื้อเพลงมีตอนต้นว่า
Almost heaven, West Virginia
Blue Ridge Mountains
Shenandoah River
Life is old there
Older than the trees
Younger than the mountains
Growing like a breeze.....
ตอนจบคือชื่อเพลง ฟังแล้วต้องรีบซื้อตั๋วเครื่องบิน บินกลับบ้าน
Country Road, take me home
To the place I belong
West Virginia, mountain momma
Take me home, country roads.....


ธรรมชาติสวยงามถึงปานนี้ “The Monster Storm” จะมาทำลายล้างผลาญได้อย่างไร ฟังข่าวว่าคุณไอรีนจะเข้า
เชสะพีกเบย์ในบัลติมอร์ ก็ฟ้าเดียวกันกับที่เราอยู่ มองเห็นเมฆดำทะมึนเต็มท้องฟ้า มีช่องว่างอยู่เป็นขอบข้างล่าง ข่าวบอกด้วยว่าคืนวันที่ 27 สิงหาคม เวลาตี 2 จะมาถึง
ใกล้เข้ามาทุกที มองผ่านหน้าต่างกระจกแผ่นกว้างอย่างไม่ไว้ใจ จะสู้นางผีเสื้อสมุทรได้ไหมนี่ เสียงข่าวแนะนำให้อยู่ห่างกระจก นึกภาพนอนอยู่บนเตียงแล้วพายุพัดหน้าต่างหลุด เกิดความเครียดไปก่อนเหตุ ยิ่งภาพข่าว นักข่าวอยู่ท่ามกลางสายลม เสื้อผ้าปลิว โผล่หน้ามา มิใช่ใครที่ไหน แคทเธอลีน นักข่าว Fox News อยู่ข้างบ้าน สามีเป็นนักหนังสือพิมพ์ ตอนนี้ไปรายงานข่าวอยู่ Ocean City ชีวิตนักข่าวต้อง “หัวเห็ด” ปะทะลมปะทะแดด เป็นร่มกันรากเหมือนดอกเห็ด คนโบราณช่างเปรียบเปรยเป็นมรดกทางภาษา ไม่เหมือนเด็กยุคใหม่ เมืองไทยกำลังฮิตท่าเพี้ยนๆ เรียกว่า Planking
ใกล้เวลาผีเสื้อสมุทรจะขึ้นฝั่ง คะนึงหาพระอภัย อยากให้มาเป่าปี่เพราะในเรื่อง นางผีเสื้อสมุทรตามอาละวาดจะพาพระอภัยมณีกลับถ้ำเดิม พระอภัยจึงต้องเป่าปี่ ความว่า
“แล้วทรงเป่าปี่แก้วให้แจ้วเสียง
สอดสำเนียงนิ้วเอกวิเวกหวาน
พวกโยธีผีสางทั้งนางมาร
ให้เสียวซ่านซับซาบวาบหัวใจ
แต่เพลินฟังนั่งโยกจนโงกหงุบ
ลงหมอบซบซวนซบสลบไสล
พอเสียงปี่ที่แหบหายลงไป
ก็ขาดใจยักษ์ร้ายวายชีวา”


คำกลอนของท่านสุนทรภู่วาดจินตนาการรื่นไหลไปได้ไพเราะสมเป็นกวีเอกไร้เทียมทาน
ข่าวสดตลอดวันแนะนำให้อยู่ในบ้าน หาอาหารที่จะอยู่ได้สักสามวันอย่างน้อย เตรียมอุปกรณ์ไฟฉาย เทียนไข รู้สึกเป็นนาทีระทึกใจ ถ้าหลานตัวเล็ก 7 ขวบอยู่เมืองไทยมาอยู่ที่นี่ จะวิ่งมาหาคุณยายด้วยมาดขององครักษ์ผู้พิทักษ์คุณยาย (ที่แท้ตัวเองกลัวฟ้าร้องเปรี้ยงปร้าง) หนูน้อยบอกว่าเป็นหุ่นยนต์ Transformer สามารถแปลงร่างเป็น Hero ไล่ผู้ร้ายพวก Aliens ให้วิ่งหนีไปได้ในพริบตา
Safeway ถูกกวาดอาหารแห้งไปบางตาเห็นได้ชัด ไข่หายไปจากชั้น คงจะถูกกวาดไปต้มไว้ยามยาก เตรียมมากก็ไม่ได้ เพราะไฟฟ้าดับ ตู้เย็นจะกลายเป็นตู้อบ
เสียงโทรศัพท์จากน้องที่ฟลอริดา ถามข่าวคราว ตัวเองรอดเงื้อมมือมาร พายุมาจากอเมริกาใต้ข้ามหัวมานอร์ทคาโลไรนา ลืมฟลอริดาไปได้ ไม่เป็นไรหรอก โดนมาบ่อยแล้ว แบ่งมาทางนี้ให้รู้รสชาติบ้าง ญาติทางนิวยอร์กกำลังอพยพไปอยู่กับญาติทางนิวเจอร์ซี่ สงสัยมาจริงๆ ก็คงจะอยู่ในใต้ฟ้าเดียวกันนั่นเองแต่ยังดีกว่าอยู่แมนฮัตตัน
ชื่นใจก็คือเสียงโทรศัพท์จาก น.ส.พ. ไทยแอล.เอ. น้ำใจของคุณวิภาวี เท่งเจียว ต้องยกให้เหมือนญาติคนหนึ่ง ซึ่งคอยติดตามถามข่าวอยู่เสมอ เธอเตือนว่า อย่าลืมปิดวาล์วแก๊ซถังใหญ่ที่อยู่ในบ้าน สั่งเสียกันเหมือนจะออกศึก คืนนั้นคุณไอรีนมาถึงด้วยม่านฟ้ามืดทะมึน ต้นเมเปิลพัดโบกโยกไกวเหมือนจะสั่งลาลำต้น ชักหวาดว่าจะกวาดกระจกหน้าต่างข้างเตียงเอาไปด้วย สงสารนกกาจะไปอยู่กันที่ไหน ทั้งเจ้ากระต่ายน้อยจอมซนขยันทำลายต้นพริก ต้นกะเพราคู่อาฆาตของคนที่เฝ้าปลูกอย่างทะนุถนอม เรียกสติมาปัญญาเกิด คิดไปก็เปล่าประโยชน์ ตามภยันตรายมาถึง ครูบาอาจารย์สอนว่าเมื่อเตรียมมาพร้อมเรียบร้อยแล้วให้เรียกสติอยู่กับตนอย่าขวัญหนีดีฝ่อตื่นตระหนก สงบใจอยู่ได้พักหนึ่งก็คว้าผ้าคลุมเตียงมาปูบนพรมข้างเตียง กระจกหน้าต่างแตกก็ให้เตียงรับไว้ก่อน พอใจว่าปล่อยวางได้แล้วก็หลับปุ๋ยในไม่ช้า
เสียงลมกระโชก ฝนพรูกระทบหน้าต่างทำให้ตื่นกลางดึกท่ามกลางความมืดสนิท กดไฟหัวเตียง ไฟดับไปแล้ว เสียงลูกสาวผู้น่ารักเดินมาเคาะประตูส่งเทียนไขแท่งใหญ่ จุดไฟมาเสร็จ ส่งให้แม่ ดูจะดีกว่าองครักษ์พาฮีโร่หุ่นยนต์แปลงร่างมาพิทักษ์คุณยาย เปิดม่านดูภายนอก ต้นไม้โยกโยน เสียงฝนเสียงลม แต่ยังมีแสงไฟที่ถนนที่แล่นผ่านกลางหมู่บ้าน Toll House นัยว่าใช้พลังงานแสงอาทิตย์เปิดตลอดวันคืน แสงจ้าส่องสาดไปตามทางถนน เป็นหมู่บ้านที่สงบสุขเพื่อนบ้านอัธยาศัยดี เดินออกกำลังกายก็ทักทายกันรายทาง ไม่ทักแต่คนเท่านั้น ทักหมาที่จูงมาด้วย หมาพวกนี้ใจดี ไม่ได้ยินเสียงเห่า สู้หมาบ้านเราไม่ได้ ไม่เห่าเปล่า แถมหอนโหยหวนอีกต่างหาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาล้นพ้น ตระกูลของคุณทองแดง จึงย้ายไปเป็นสุนัขทรงเลี้ยง เห็นพระพักตร์ตอนทรงพระสำราญแล้วก็พลอยรักคุณทองแดงไปด้วย เพราะยังดีกว่ามนุษย์หลายคนที่ไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
ไฟฟ้าเป็นพลังงานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ สู้สัตว์ไม่ได้ ที่มีตนเป็นที่พึ่งแห่งตนโดยสัญชาตญาณ เช่นมดมีจมูกไวต่อกลิ่น เหยี่ยวมีตาเป็นเรดาร์ส่องสัตว์เป็นอาหาร กระต่ายหูตั้งวิ่งหนีภัยป่าราบก่อนใคร มันมีอะไรที่เกิดมา มันก็พอใจในสิ่งเหล่านั้นและใช้คุ้มค่าตลอดชีวิต ไม่เหมือนมนุษย์ไม่เคยพอเพียง พอใจกับสิ่งที่มีอยู่ ดิ้นรน แสวงหาไม่สิ้นสุด คำพรที่ว่าหวังสิ่งใดขอให้สมปรารถนา มนุษย์ชอบเพราะความปรารถนาของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุดจนวันตายก็ยังปรารถนาจะอยู่ต่อไป แม้ว่าสังขารจะเจ็บปวดยกแขนยกขาไม่ขึ้น
ผีเสื้อสมุทรบุกเกาะแมนฮัตตัน ไปถึงลองไอส์แลนด์ เวอร์มอนต์ ผ่านรายทางตลอดชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก พอรุ่งเช้าที่แมรีแลนด์ก็สงบ ตอนสายๆ ชวนกันออกไปหาซื้อน้ำแข็งสำหรับอาหารแช่แข็งในตู้เย็นที่ไอศกรีมเหลวหมด ไฟฟ้ายังดับอยู่ รถแล่นออกมาต้นไม้ล้มตามข้างทาง บ้างพาดบนเสาไฟฟ้า แปลกที่บางบ้านมีไฟเปิดอยู่หน้าบ้าน แสดงว่าดับบ้างไม่ดับบ้าง
Safeway มีคนออกมามาก รถจอดเต็มลานจอดรถ หลังพายุ ฟ้าเริ่มคลายสีหม่นมัวมืดเป็นหมอกคลุมเต็มฟ้า ข่าวน้ำไหลหลากท่วมไปทั่วเห็นความทุกข์ของคนอื่นแล้ว แมรีแลนด์ดูจะใช้เวลาสั้นกว่า น้ำก็ไม่ท่วมเพราะเป็นจุดที่อยู่บนเนินสูง ลมยังพัดโบกไกวแต่ไม่กระโชกแล้ว เสียงนกกายังเงียบสงบ ไม่จ้อกแจ้กจอแจเหมือนเคย ไฟฟ้ามาตอนบ่าย วงจรชีวิตหมุนกลับจุดเดิม ลมเพลมพัดผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่อีกหลายหมื่นแสนครอบครัว ยังตกอยู่ในห้วงลำเค็ญ ทั้งนิวยอร์ก นิวเจอร์ซี่ เวอร์มอนต์ เพ็นซิลวาเนีย เวอร์จิเนีย และหลายแห่งในแมรีแลนด์ ประกาศปิดโรงเรียนในวันเปิดภาคเรียนวันแรก คือวันที่ 29 สิงหาคม 2011 เพราะบ้านอีกหลายหมื่นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ นึกถึงนางผีเสื้อสมุทรตอนตามล่าหาพระอภัยมณี ที่หลอกให้นางไปนั่งภาวนาต่อชีวิตแก้ฝันร้ายตามคำหลอกของพระอภัยมณี
ฝ่ายนางผีเสื้อสมุทรที่สุดโง่ ไปนั่งโซเซาอยู่ริมภูผา
ขอชีวิตพิษฐานตามตำรา ต้องอดปลาอดนอนอ่อนกำลัง
นานเข้าก็หน้ามืดตาลายกลับคูหา มองไม่เห็นพระอภัย ดูปี่ที่เป่าเล่าก็หาย นางยักษ์ร้ายรู้ว่าพากันหนี ก็ลงกลิ้งเกลือกเสือกกายร้องไห้โร่ เสียงโฮโฮดังก้องห้องคูหา เรียกหาลูกผัว ระกำอก หันหุนพิโรธ กำลังโกรธกลับแรงกำแหงหาญ แล้วสำแดงฤทธิ์
กระโดดโครมโถมว่ายสายสมุทร
อุตลุดดำดันเที่ยวค้นหา
ไม่เห็นผัวคว้าไปได้แต่ปลา
ควักลูกตาสูบเลือดด้วยเดือดดาล
พระอภัยหนีผีเสื้อสมุทรมาสิ้นสุดที่เกาะแก้วพิสดารแมนฮัตตัน
ไหนๆ ตั้งชื่อตอนว่าผีเสื้อสมุทรบุกเกาะแมนฮัตตัน ก็ขอจบด้วยคำกลอนพระอภัยมณี คำกลอนของท่านสุนทรภู่ ดังต่อไปนี้
แล้วนางมารอ่านคาถาพลาหก
ให้ฝนตกฟุ้งฟ้าไม่ฝ่าฝืน
ทั้งฟ้าร้องก้องกระหึมเสียงครืมครืน
นภางค์พื้นบดบังกำลังมนต์
พระอภัยไม่รู้ที่จะคิด
กับพวกศิษย์แสนลำบากต้องตากฝน
จะหนีนางทางไหนก็ไม่พ้น
สุดจะทนฝนชุกลงทุกที
ไหนจะถูกลูกเห็บเจ็บสาหัส
พงศ์กษัตริย์สิ้นรักนางยักษี
จึงปรึกษากับฝรั่งว่าครั้งนี้
จะเป่าปี่ผลาญนางให้วางวาย
จบฉากนางผีเสื้อบุกเกาะแมนฮัตตันเพียงเท่านี้

ขออนุโมทนาขอบคุณ
ศาสตราจารย์ ประภาศรี สีหอำไพ นักเขียนกิตติมศักดิ์ ที่เอืัอเฟื้ัอบทความนี้แก่ทีมงาน Dhammatogo
ดร.พระมหาถนัด อตฺถจารี
เลขาธิการ สมัชชาสงฆ์ไทยฯ

รวมคลิปเกี่ยวกับความเสียหายจากพายุเฮอริเคนไอรีน

http://youtu.be/fqat2mu0-uk

http://youtu.be/swTHbeVMgkY

http://youtu.be/fX772KTcDMM

http://youtu.be/5AmtPUC3zOs

http://youtu.be/_WixIs09MQ4

http://youtu.be/2iVvhdc1D7A

http://youtu.be/z2oDT_fV6Vs

http://www.go6tv.com/2011/08/blog-post_1746.html



รายงานการประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา
สมัยวิสามัญครั้งที่ ๑๙ / ๒๕๕๓
ณ วัดวชิรธรรมปทีป เมืองลองไอส์แลนด์ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
วันที่ ๑๑ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓






เปิดประชุมเวลา ๙.๐๐ น. โดยพระราชธรรมวิเทศ วัดไทยลองแองเจลิส รองประธานฯ รูปที่ ๒ ทำหน้าที่ประธานในพิธี นำบูชาพระรัตนตรัย
ท่านกงสุลใหญ่ พิริยะ เข็มพล กล่าวต้อนรับในนามพุทธศาสนิกชนชาววัดวชิรธรรมปทีป
พระมหาถนัด อตฺถจารี เลขาธิการ กล่าวถวายรายงานต่อประธานที่ประชุม ดังนี้
กราบเรียน พระเดชพระคุณพระราชธรรมวิเทศ เจ้าอาวาสวัดไทยลองแองเจลิส รองประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา รูปที่ ๒ พระสุนทรพุทธิวิเทศ รองประธานฯ รูปที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่ประธานสมัชชาสงฆ์ไทยฯ ที่เคารพอย่างสูง
พระเถรานุเถระ เพื่อนพระธรรมทูตที่ปฏบัติหน้าที่วัดในเครือและวัดสมาชิกสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ทุกรูป ท่านกงสุลใหญ่แห่งมหานครนิวยอร์ก พิริยะ เข็มพล และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน
ในนามของคณะกรรมการอำนวยการ และสมาชิกสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ขอขอบพระคุณที่พระเดชพระคุณพระราชธรรมวิเทศ ได้มาเป็นประธาน ในพิธีเปิดประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา สมัยวิสามัญครั้งที่ ๑๙/๒๕๕๓ ณ วัดวชิรธรรมปทีป แห่งนี้
เนื่องด้วยคณะกรรมการอำนวยการสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ได้ปรารภถึงอาการอาพาธของพระเดชพระคุณพระเทพกิตติโสภณ ประธานสมัชชาสงฆ์ไทยฯ และมีความเห็นชอบร่วมกันในการทำบุญครบรอบวันเกิดในวันอาทิตย์ที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เพื่อให้พระธรรมทูตที่ปฏิบัติศาสนกิจในวัดสังกัดสมัชชาสงฆ์ไทยฯได้เดินทางมากราบเยี่ยมอาการอาพาธของพระเดชพระคุณฯ และเพื่อระดมทุนทอดผ้าป่าช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลที่ทางคณะกรรมการวัดวชิรธรรมปทีปได้จัดตั้งไว้แล้ว



อนึ่ง คณะกรรมการอำนวยการสมัชชาสงฆ์ไทยฯได้มีมติร่วมกันที่จะจัดประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยฯ สมัยวิสามัญ เพื่อให้การบริหารงานของสมัชชาสงฆ์ไทยฯ เป็นไปด้วยความก้าวหน้า และรวดเร็ว โดยเฉพาะในการแบ่งภารกิจหน้าที่ของคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งเป็นโครงสร้างของสมัชชาสงฆ์ไทยฯในรูปแบบใหม่ จึงจำเป็นต้องมีการประชุมปรึกษาหาหรือ ติดตามงาน และมอบหมายงานจองแต่ละฝ่ายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และในการบริหารงาน การปกครองดูแลพระธรรมทูต และวัดต่าง ๆ ในสังกัดสมัชชาสงฆ์ไทยฯ ซึ่งมีเรื่องสำคัญ และจำเป็นที่จะแจ้งให้วัดสมาชิกสมัชชาสงฆ์ไทยฯ ได้ทราบในการประชุมครั้งนี้หลายเรื่องด้วยกัน
สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๙ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนองงานคณะสงฆ์ของมหาเถรสมาคมแห่งประเทศไทย มุ่งมั่นเผยแผ่พระพุทธศาสนาในฐานะพระธรรมทูตในสหรัฐอเมริกา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ ประสานงานระหว่างพระธรรมทูต ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในแต่ละรัฐ และเพื่อช่วยเหลือกิจการในวัดไทยในภาคพื้นทั่วสหรัฐอเมริกา และยังได้สร้างเครือข่ายการทำงานระหว่างพระธรรมทูตในต่างประเทศทั่วโลก
ด้วยเหตุที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ปกครองด้วยระบบมลรัฐ กฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระธรรมทูตได้ เพื่อให้การปฏิบัติศาสนกิจของพระธรรมทูตที่กระจายอยู่ทั่วไป ในสหรัฐอเมริกามีความเป็นเอกภาพ จึงได้จัดตั้งสมัชชาสงฆ์ไทยฯ ขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว
ปัจจุบันมีวัดสมาชิกที่สังกัดของสมัชชาสงฆ์ไทยฯ จำนวน ๙๕ วัด โดยแบ่งวัดออกเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. วัดที่มีหลักฐานการจัดตั้ง ตามกฎหมายของรัฐ และถูกต้องตามระเบียบของสมัชชาสงฆ์ไทยฯ จัดให้อยู่ในเครือของสมัชชาสงฆ์ไทยฯ มีจำนวน ๖๑ วัด
๒. วัดที่จัดตั้ง ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ยังขาดเอกสารหลักฐาน ตามระเบียบของสมัชชาสงฆ์ไทยฯ ที่กำหนดไว้ จัดให้อยู่ในความดูแลของสมัชชาสงฆ์ไทยฯ มีจำนวน ๒๖ วัด
๓. วัดที่เป็นของชาวพุทธประเทศอื่น ๆ แต่มีพระสงฆ์ไทยไปอยู่ช่วยปฏิบัติศาสนกิจ จัดเป็นประเภทวัดที่อยู่ใน ความอนุเคราะห์ มีจำนวน ๖ วัด
และวัดทั้งหมดนี้มีกระจายอยู่ทั่วใน ๓๒ มลรัฐ ของประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีพระธรรมทูตปฏิบัติศาสนกิจอยู่จำนวน ๔๓๒ รูป
ดังนั้น จึงได้นิมนต์เจ้าอาวาส/หัวหน้าสงฆ์ หรือพระธรรมทูตผู้แทนวัดในสังกัดสมัชชาสงฆ์ไทยฯ มาประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยฯ สมัยวิสามัญ ครั้งที่ ๑๙ ในวันเสาร์ที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ณ วัดวชิรธรรมปทีป ลองไอแลนด์ มหานครนิวยอร์ก และร่วมทำบุญอายุถวายพระเดชพระคุณหลวงพ่อประธานฯ
บัดนี้ได้เวลาอันเป็นมงคลฤกษ์แล้ว เกล้าฯ ขออาราธนา พระเดชพระคุณ พระราชธรรมวิเทศ ได้กล่าวเปิดการประชุม และให้โอวาทแก่คณะพระธรรมทูตที่ได้มาร่วมประชุมในครั้งนี้ ต่อไป



พระครูศรีวิเทศธรรมคุณ รองเลขาธิการ รูปที่ ๑ กล่าวแนะนำวัดต่าง ๆ
พระสุนทรพุทธิวิเทศ ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสมัชชาสงฆ์ไทยฯ ประชุมตามวาระ
วาระที่ ๑ เรื่องประธานแจ้งให้ทราบ
๑. แจ้งการได้รับแต่งตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์ ของพระธรรมทูตในสังกัดสมัชชาสงฆ์ไทยฯ
๑. พระครูวิเทศสุตคุณ (ปรีชา ธมฺมจารี น.ธ.เอก ป.ธ.3) เจ้าอาวาสวัดมงคลรัตนาราม เมืองแทมป้า รัฐฟลอริด้า ได้รับเลื่อนเป็น "เทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นพิเศษ" (ทผจล.ชพ) ในราชทินนามเดิม
๒. พระมหามนัส อพฺภาจารสมฺปนฺโน (น.ธ.เอก ป.ธ.5 พธ.บ.) เจ้าอาวาสวัดมงคลรัตนาราม เมืองเบิร์คเลย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรเทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นพิเศษ (ทผจล.ชพ.) ในราชทินนาม "พระครูสิริรัตนธรรมวิเทศ"
๒. พระครูวินัยธรหาญชัย อาสภกนฺโต (น.ธ.เอก ปริญญาตรี) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ดีซี เมืองอเล็กแซนเดรีย รัฐเวอร์จิเนีย ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรเทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก สายวิปัสสนา (ทผจล.ชอ.วิ) ในราชทินนาม "พระครูภาวนาสุธรรมวิเทศ"
๓. แจ้งอาการอาพาธของพระธรรมทูต
๑. พระอาจารย์ ดร.พระมหาวันดี กนฺตสีโล วัดพรหมจริยการาม อาการลำใส้แตก พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแล้วได้รับการผ่าตัด
๒. พระมหาธนกรณ์ วัดพุทธประทีป เมอร์เสด อาพาธด้วยโรคมะเร็งที่ปอดและหัวใจ ขั้นที่ ๓ ท่านได้ไปเยี่ยม
๓. หลวงตาชี มีอาการอาพาธด้วยโรคกระดูกทับเส้น ตั้งแต่วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๓ มีอาการปวดหลัง ขาซ้ายอ่อนไม่มีกำลัง และสุดท้ายเดินไม่ได้ และคณะแพทย์-พยาบาลให้การรักษาดูแลอย่างดี
๔. การบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่ประเทศไทย สมัชชาสงฆ์ไทยฯ ได้รวบรวมปัจจัยทั้งหมดที่ได้รับบริจาควัดในสังกัดสมัชชาสงฆ์ไทยฯ และพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้เงินจำนวน ๒๕,๕๒๘ เหรียญฯ( ๑๑ ธ.ค.)
๕. การสัมมนาที่ประเทศอินเดีย ดร.พระมหาถนัด อตฺถจารีได้แจ้งให้ทราบเพิ่มเติมถึงกำหนดการเดินทางของคณะวีไอพี วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๕๔ กลับทางเมืองพาราณสี ๕ มี.ค. และกลับทางกลุงนิวเดลฮีวันที่ ๗ มี.ค. ส่วนคณะแบบชั้นประหยัดเดินทางวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ บินลงกัลกัตต้า แล้วนั่งรถต่อไปยังเมืองคยา แล้วกลับวันที่ ๗ มีนาคม ทางกัลกัตตา
และขออนุมัติเงินในการช่วยเหลือโครงการฯนี้ ท่านประธานให้พิจารณาในวาระต่อไป
๖. พิมพ์หนังสือแสดงมุทิตาสักการะพระธรรมทูตที่ได้รับสมณศักดิ์ พระครูศรีวิเทศธรรมคุณเป็นผู้แจ้งได้พิมพ์หนังสือ การสื่อภาษาเพื่อเข้าถึงสัจจธรรม จำนวน ๕,๐๐๐ เล่ม เป็นเงินจำนวน ๕๕,๐๐๐ บาท
๗. เรื่องเพิ่มเติม พระมหานรินทร์ นรินฺโท เสนอให้ฝ่ายเผยแผ่เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาต้นฉบับเตรียมไว้แล้วนำมาเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการก่อน แจ้งทั้งจำนวนพิมพ์ งบประมาณในการจัดพิมพ์ก่อนการดำเนินการ
๒. เรื่องรับรองรายงานการประชุม
๑. การประชุมคณะกรรมการสมัชชาสงฆ์ไทยฯ สมัยสามัญครั้งที่ ๓๔/๒๕๓ โดยได้แจกเอกสารประกอบการสรุปประเด็น และมติต่าง ๆ ให้ที่ประชุมรับทราบ ทุกรูปได้อ่านรายงานการประชุมแล้วไม่มีข้อผิดพลาดในประเด็นต่าง ๆ มติเห็นชอบรับรองเป็นเอกฉันท์
๒. เรื่องประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารตามภาครัฐต่าง ๆ คณะกรรมการเห็นชอบให้การแบ่งเขตการดูแลของรองประธานฯ ตามรัฐภาคต่าง ๆ แบ่งออกเป็น ๔ รัฐภาค เพียงแต่ให้กองงานเลขาธิการ ได้นำไปปรับโครงสร้างตามที่ได้แบ่งแล้วนั้นตามความเหมาะสมให้ถูกต้องตามที่แบ่งรัฐต่าง ๆ ตามที่ประกาศไปแล้ว







ไวตามินธรรม คือ ธรรมะสำหรับทุกชีวิต
อะธัมโม นิระยัง เนติ ธัมโม ปาเปติ สุคะติง
อธรรมย่อมนำไปนรก ธรรมย่อมนำให้ถึงสุคติ




หลังจากที่งานประเพณีทอดกฐินที่จัดขึ้นแต่ละวัดได้ผ่านพ้นไปตามพระวินัยนิยมบรมพุทธานุญาต ญาตโยมผู้ที่เป็นเจ้าภาพและผู้มีศรัทธาทั้งหลายได้บำเพ็ญบุญทานการกุศลกันเต็มที่ แต่มีสิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน คือการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง




วันนี้ขอนำเสนอธรรมะในแง่ไวตามินธรรมหรือผลของธรรมที่เกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัตินั้น จากการงดเว้นสิ่งที่ควรงดเว้น จากการรักษาสิ่งที่ควรรักษา จากการประพฤติตามสิ่งที่ควรประพฤติพระธรรมคำสั่งสอนนั้นบุคคลสามารถซึมซับได้อย่างเป็นรูปธรรมทุกระดับชั้นตั้งแต่ ศีล สมาธิและปัญญาไปจนถึงวิมุตติได้ ซึ่งจัดเป็นความอัศจรรย์ข้อหนึ่งคือข้อที่ว่า ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนย่อมได้รับผลสมควรแก่การปฏิบัติของตน ๆ ผู้ปฏิบัติย่อมได้รับผลดีแก่เขาเองไม่เกี่ยวกับการรู้เห็นของคนอื่น ผู้ปฏิบัติไม่ดีก็อยู่ทที่ตัวเขาเองไม่เกี่ยวกับการรู้เห็นของคนอื่น ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติดีจึงเป็นผลบวก เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ เป็นนิมิตแห่งความสงบร่มเย็น มีความสุขสงบเป็นวิบากจัดเป็นกุศลธรรม ผลที่เกิดจากการปฏิบัติไม่ดี จัดเป็นผลลบ เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ต้องการเป็นนิมิตแห่งความวุ่นวาย มีความเดือดร้อนเป็นวิบาก จัดเป็นอกุศลธรรม
ผลทั้งสองถึงฝ่ายหนึ่งจะเป็นกุศลฝ่ายหนึ่งจะเป็นอกุศลก็ตาม แต่ทั้งสองก็จัดเป็นผลเหมือนกัน เป็นพลังขับเคลื่อนพาบุคคลผู้ปฏิบัติไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างซื่อสัตย์ยุติธรรมที่สุด บางครั้งท่านพยายามจะสื่อความหมายให้เข้าใจยิ่งขึ้นไปอีกท่านจึงใช้คำว่า “อะธัมโม นิรยัง เนติ ธัมโม ปาเปติ สุคติง” ซึ่งแปลว่า “อธรรมย่อมนำไปนรก ธรรมย่อมนำให้ถึงสุคติ”
คำว่า ธรรม และ อธรรม นั้นไม่ใช่ชื่อของนาม แต่เป็นชื่อของกิริยา การประพฤติปฏิบัติของบุคคล เป็นตัวการที่จะพาให้ชีวิตมุ่งหน้าไปสู่ความเจริญหรือความเสื่อมได้ ทั้งธรรมและอธรรมนี้เองเป็นพลังขับเคลื่อนให้ชีวิตของเราเป็นไป



ในจักกวัตติสูตร สูตรว่าด้วยความเสื่อมแห่งอายุของมนุษย์จาก ๘ หมื่นปีลงมาจนเหลือเพียง ๑๐ ปี ก็เป็นเพราะมนุษย์ละเมิดข้อห้ามและไม่ประพฤติปฏิบัติตามข้อที่ทรงอนุญาตนั่นเอง เริ่มจากการละเมิดศีล ๕ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ อธรรมราคะคือความยินดีในสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม วิสมโลภะ ความโลภที่ไม่ใช่โลภธรรมดา มิจฉาธรรม และในที่สุดก็จะมีแต่การประพฤติอกุศลกรรมบถเต็มบ้านเต็มเมือง มนุษย์จึงเข้าสู่ยุคมิคสัญญีอย่างเต็มตัว คนอายุน้อยลงจนเหลือ ๑๐ ปีแต่ใจร้อนขึ้น ถือว่าถึงจุดระเบิดของยุคหนึ่ง ๆ ในตอนนี้เอง ถือว่าพลังขับเคลื่อนแห่งอธรรมได้เดินทางมาจนถึงจุดอิ่มตัวแล้วสำหรับการเวียนว่านตายเกิดของสรรพชีพ การปฏิบัติของมนุษย์จึงมีผลต่อธรรมชาติและร่างกายจิตใจด้วยประการฉะนี้ (ที.ปา. ๑๑/๘๐–๑๑๐/๔๙–๖๗)



ในอัคคัญญสูตรท่านได้เน้นไปที่วิวัฒนาการของกิเลสและพลวัตต์ของสังคม และระบบการปกครองเป็นส่วนมาก โดยเริ่มจากที่มนุษย์ยังไม่รู้จักกินอะไรเลย แต่ไปเห็นง้วนดินซึ่งลอยฟ่องอยู่ จึงเอามือแตะมาชิมดู จากนั้นก็ติดใจในรสชาติของง้วนดินนั้น ร่างกายที่เคยมีแสงสว่างอยูก็หายไปและแค่นแข็งขึ้นเรื่อย ๆ ความรู้จักพอไม่มี พวกเขาจะทวีความโลภขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออาหารอย่างเก่าหมดไป พวกเขาก็พากันกินอย่างอื่นต่อไปความหยาบของร่างกายก็ปรากฏขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็วิวัฒนาการมาเป็นเพศชายเพศหญิง แล้ววัฒนธรรมของการอยู่ครองเรือนก็เกิดขึ้นจนมีลูกมีหลานมาจนทุกวันนี้
ในพระสูตรนี้ก็พยายามจะแสดงพลังขับเคลื่อนที่เป็นฝ่ายอกุศลที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต ต่อการประพฤติปฏิบัติตนของมนุษย์ได้อย่างเป็นระบบทีเดียว (อัคคัญญสูตร ที.ปา. ๑๑/๑๑๑/๖๘)
ทั้งสองพระสูตรนี้ เป็นการถ่ายทอดพลังขับเคลื่อนของฝ่ายอกุศลธรรม สูตรแรกนั้นแสดงความเป็นไปของชีวิตมากกว่า ส่วนสูตรที่สองนั้น เน้นความเป็นไปของสังคมที่มีความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง พร้อมทั้งสาเหตุที่ผลักดันให้เกิดระบบปกครองในสังคมที่อยู่ภายใต้ธรรมชาติ โดยเริ่มจากการกินง้วนดิน กะบิดิน เครือดิน มาจนถึงข้าวสาลีที่เกิดเองที่ไม่มีเปลือกและข้าวสาลีที่ปักดำเอามาจนถึงทุกวันนี้

จากความละเอียดมาสู่ความหยาบขึ้นเรื่อย ๆ มนุษย์เริ่มต้นการเดินทางมาจากอาภัสสรพรหมพอมากินง้วนดินในโลกมนุษย์แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างใหญ่หลวง ตัวตนมีน้ำหนักขึ้นที่เคยเหาะได้ก็ต้องเดิน ที่เคยมีแสงออกจากร่างกายแสงนั้นก็หายไป ร่างกายก็นับวันยิ่งหยาบกระด้างขึ้นเป็นลำดับ พอร่างกายหยาบขึ้นเพศหญิงชายก็ปรากฏขึ้นวัฒนธรรมของการครองคู่จึงมีขึ้น เมื่อพวกเขาอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา วัฒนธรรมของการสร้างบ้านปลูกเรือนก็เริ่มเกิดขึ้น จุดเริ่มต้นของสังคมมนุษย์ของหรือการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นชุมชนเริ่มต้นจากตรงนี้เอง เมื่อมีการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนจึงมีปัญหาด้านสังคมตามมาพวกเขาได้อาศัยปัญหานั้นเองเป็นบทเรียนโดยธรรมชาติ จึงคิดหาวิธีการระงับเหตุนั้น ๆ ด้วยการแต่ตั้งหัวหน้าขึ้น ถือว่าการปกครองของมนุษย์อย่างเป็นรูปเป็นร่างได้เริ่มต้นขึ้นมาครั้งแรกที่สุดในโลกในพระสูตรนี้เอง
ต่อไปนี้จะได้เสนอไวตามินธรรมอยู่ในหลายหัวข้อหลายระดับ ทั้งศีลสมาธิและปัญญา เป็นต้น และยังไม่ลืมที่จะพยายามครอบคลุมไปถึงบริบทชีวิตทั้งหมด คือเรื่องร่างกายด้วย ไม่เจาะจงเฉพาะจิตใจเท่านั้น แต่ถึงเรื่องจะกว้างออกไปเท่าใดก็ตาม ถึงกระนั้นก็ยังอยู่ในกติกาหรือประเด็นที่กำลังอธิบายอยู่คือเรื่องไวตามินธรรมในทุกเรื่องทุกหัวข้อที่ตั้งเป้าไว้ นั่นเอง ไม่ว่าจะอ่านหัวข้อใดก็ตาม ขอให้ทำความเข้าใจไว้ก่อนว่า เราจะดูอานุภาพหรือไวตามินของธรรมข้อนั้น ๆ ว่าจะเป็นไปอย่างไร เมื่อตั้งใจถูกต้องแล้ว การอ่านก็จะทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นและสามารถทราบได้ว่า การนำเสนอเนื้อหาในบทความนี้ ประมวลผลของระบบเศรษฐศาสตร์ทางวิญาณเลยทีเดียว



ฉบับนี้เป็นแต่เพียงขอเบิกโรงให้ทราบล่วงหน้าก่อนเท่านั้น โปรดติดตามอ่านในคอร์ลัมน์นี้ต่อไป
ขอความเจริญงอกงามไพบูลย์ จงบังเกิดมีแก่สรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า และ ขอให้พระสัทธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจงดำรงอยู่คู่มวลมนุษย์ตลอดกาลนานเทอญ






กฐินบุญแปลก

การทอดกฐิน ถือว่าเป็นกาลทานที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุแสวงหาผ้าจีวร หลังออกพรรษาแล้ว ๑ เดือน ในกาลต่อมา เพื่อความสะดวกสาธุชนได้จัดผ้าไตรจีวรนำไปทอดที่วัด ที่มีพระสงฆ์จำพรรษาถ้วนไตรมาส สาธุชนทอดได้ปีละหนึ่งครั้ง จึงถือว่าการทอดกฐินมีผลานิสงส์มาก

การทอดกฐิน ถือว่าเป็นการทำบุญที่เรียกว่า “กาลทาน” ที่มีอานิสงส์พิเศษของชาวพุทธ เพราะเป็น การทำบุญที่จำกัดเรื่องกาลเวลา จำกัดสถานที่ คือต้องทอดในวัดที่มีพระอยู่จำพรรษาเท่านั้น และต้องมีโบสถ์หรือเขตสีมาในเวลาทำสังฆกรรม ที่เรียกว่า “กรานกฐิน” ให้ถูกต้องตามพระวินัยนิยมบรมพุทธานุญาต
ในช่วง ๑ เดือนตั้งแต่วันออกพรรษาปีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๔ ตุลาคม เป็นต้นมา ญาติโยมผู้ใจบุญทั้งหลายได้แสวงหาผ้าจีวรถวายพระประจำปี หรือที่เรียกว่า “การทอดกฐิน” นั่นเอง ในปีนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสได้รับนิมนต์ให้ไปเทศน์ และนำปฏิบัติธรรมอยู่หลาย ๆ วัดด้วยกัน ดังจะขอยกตัวอย่าง ดังต่อไปนี้



วัดแรกที่ทอดกฐินเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ที่ผู้เขียนมาโอกาสไปเทศน์คือวัดมงคลเทพมุนี เมืองเบ็นซาเล็ม ชานเมืองฟิลลาเดลเฟียขับรถประมาณครึ่งชั่วโมง เป็นวัดสายของศิษย์หลวงพ่อสดวัดปากน้ำ ซึ่งใคร ๆ ก็ทราบดีและเมื่อได้ข่าวการบุญการกุศลเช่นนี้ญาติโยมที่อยู่ในรัฐใกล้ชิดติดกันก็เดินทางมาร่วมบุญเป็นจำนวนมาก โดยเจ้าภาพหลักปีนี้ท่านที่เป็นประธาน คือ นพ.สุใจ คุณอนงค์ อุดมทรัพย์ พร้อมด้วยครอบครัว ตั้งใจทำบุญใหญ่ด้วยการรอคอยมาเป็นเวลาหลายปี และก่อนทำบุญใหญ่ปีนี้ก็มีทุกขลาภคือต้องเข้าโรงพยาบาลผ่าตัดหัวใจ แต่ว่าจิตใจเปี่ยมล้นด้วยบุญกุศลที่มีจิตใจตั้งมั่นจึงทำให้เกิดผลานิสงส์ ทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นอย่างรวดเร็วและได้มาร่วมทอดกฐินด้วยความปลาบปลื้มใจ



วัดที่สอง หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์วันที่ ๓๐-๓๑ ตุลาคม ผู้เขียนได้รับนิมนต์ไปร่วมงานกฐินที่วัดไทยมินนิโซต้า เมืองแอลริเวอร์ มลรัฐมินนิโซต้า ซึ่งเป็นวัดในเครืองสมัชชาสงฆ์ไทยฯที่เป็นวัดน้องใหม่ตั้งมาไม่นาน แต่มีญาติโยมที่เป็นกรรมการเข้มแข็งเอาใจใส่ทะนุบำรุงพระสงฆ์และวัดวาศาสนาเป็นอย่างดี ประธานทอดกฐินปีนี้คือ คุณอธิษฐาน อัจฉะวงค์ พร้อมด้วยเพื่อน ๆ ผู้ปฎิบัติธรรม ตั้งกองกฐินสามัคคี “อริยมรรค” คือให้เจ้าภาพจองทั้งหมด ๘ กองตั้งชื่อตามอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นประธานร่วม



เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะเจ้าภาพกฐินกลุ่มนี้ ได้ติดตามท่านเจ้าอาวาสคือพระอาจารย์สุภาพ เจ้าอาวาสวัดไทยมินนิโซต้า ไปร่วมปฎิบัติธรรมภาคภาษาอังกฤษในโครงการธรรมสัญจร เพื่อสมโภชอุโบสถหลังใหม่ในงานการพัทธสีมาฝังลูกนิมิต วัดวชิรธรรมปทีป ลองไอส์แลนด์ มหานครนิวยอร์ก โดยมี ดร.พระมหาถนัด อตฺถจารี เลขาธิการ สมัชชาสงฆ์ไทยฯ นำปฏิบัติปรากฏว่าประทับใจอยากจะให้มีการอบรมธรรมะภาคภาษาอังกฤษที่วัดมินนิโซต้าบ้าง จึงได้นิมนต์ไปร่วมงานทอดกฐิน พร้อมด้วยพระมหาเอนก อเนกาสี พระธรรมทูตวัดวชิรธรรมปทีป วิทยากร ของโครงการธรรมสัญจร ด้วย ในงานนี้ได้ถ่ายทำรายการทีวี “ท่องธรรม” โดยจะนำออกอากาศทางสถานทีโทรทัศน์ TNN2 ที่เมืองไทย และออกรายการทีวีของ Lao Champa, Nat TV. ด้วย




วัดที่สาม เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ที่ผู้เขียนได้รับนิมนต์ไปแสดงธรรม คือวัดลาวพุทธวงศ์ เมืองมานาซัส รัฐเวอร์จีเนีย เป็นวัดของท่านเลขาธิการสมัชชาสงฆ์ลาว พระอาจารย์มหาจันดาพร จกฺกวโร และญ่าท่านบุญมี กิตฺติธมฺมวณฺโณ ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นกรรมการที่ปรึกษาการสร้างวัดลาวพุทธคยานานาชาติ ประเทศอินเดีย ในการตั้งองค์กฐินครั้งนี้เพื่อนำไปทอดที่ประเทศอินเดีย ได้ขึ้นบรรยายขยายความ ว่า “ไปอินเดียทำไม ทำไมต้องไปสร้างวัดในอินเดีย ?” เป็นหัวข้อที่ยกขึ้นแสดงธรรมและสนทนากับญาติโยมทั้งหลาย
ในงานนี้ท่านเลขาธิการ สมัชชาสงฆ์ไทยฯ ดร.พระมหาถนัด อตฺถจารี ได้มอบหนังสือ Walking on the Path of the Buddha คือหนังสือคู่มือท่องแดนพุทธสถานอินเดีย-เนปาลภาษาอังกฤษ จำนวน ๕๐ เล่ม เพื่อให้ญาติโยมทำบุญนำเงินเข้ากองทุนสร้างวัดลาวพุทธคยานานาชาติ พร้อมทั้งได้มอบ การ์ดอวยพร ๑๖ ภาพในแดนพุทธภูมิ จำนวน ๒๕ กล่อง เพื่อให้ญาติโยมได้ทำบุญนำเงินเข้ากองทุนนี้ด้วย นับว่าเป็นกุศลฉันทะที่น่าประทับใจในการสร้างสรรค์จรรโลงพระพุทธศาสนาในแดนพุทธภูมิอันควรให้การสนับสนุนอย่างยิ่ง

บุญกฐิน คือ บุญแปลก

วัดที่สี่ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ได้รับนิมนต์ไปร่วมงานกฐินและแสดงธรรม ณ วัดป่าสันติธรรม เมือง แคร์รอลตัน มลรัฐเวอร์จีเนีย โดยมีท่านเจ้าภาพผู้เป็นประธานใหญ่ คือคุณบุญญฤทธิ์ (แจ๊ก) งามสะอาด เจ้าของร้านอาหารธิดาไทย (มีทั้งหมด ๖ สาขา) ในรอบ ๆเมืองแฮมตันโรด เช็กสปีคเบย์แอเรีย และเวอร์จีเนีย บีช เมื่องท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของรัฐภาคตะวันออก
งานนี้จะขาดพี่ใหญ่ให้การสนุบสนุนร่วมเป็นประธานร่วมไม่ได้ คือ คุณพยุง คุณจิตนา งามสอาด แห่งร้านอาหารทะเลไทย ในกรุงวอชิงตัน,ดี.ซี. ได้ชักชวนญาติพี่น้องและพนักงานในร้านทั้งสองแห่งล้วนแต่เป็นชาวอ่างทองเป็นส่วนใหญ่ และพุทธศาสนิกชนทั่วไปทั้งจากวัดไทยกรุงวอชิงตัน,ดี.ซี. และในรัฐใกล้เคียง งานนี้เจ้าอาวาส พระมหาอุดม ปภงฺกโร และคณะกรรมการวัดหน้าบานเลยเพราะได้ปัจจัยเข้าวัดเยอะมาก ตัวเลขยังไม่เปิดเผย แต่ทางวัดก็มีโครงการสร้างถาวรวัตถุถวายหลวงตาชี เป็นอนุสรณ์ ๘๔ ปี คือจะสร้าง “ศาลารวมใจ” เป็นศาลาเอนกประสงค์ งบประมาณอีกหลายแสน ดังนั้นงานกฐินปีนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการรวบรวมกองทุนในการก่อสร้างในครั้ง
ในปีนี้ วัดไทยกรุงวอชิงตัน, ดี.ซี.ได้จัดงานทอดกฐินสามัคคีขึ้น โดยมีคณะพยาบาลบัลติมอร์ได้รวมกลุ่มเป็นประธาน และเตรียมการทอดถวายในวันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ นี้ ดังนั้น บุญกฐินในปีนี้จึงเรียกว่า กฐินสามัคคี



กฐิน : กาลทานไม่เสื่อมคลายจากจิตใจชาวพุทธ





ประเภทของกฐิน
เมื่อถึงคราออกพรรษา ก็ได้เวลาของการทอดกฐิน ในหนังสือ ‘พูดจาภาษาวัด’ โดยกรมการศาสนา และหนังสือแนวทางการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูล เกี่ยวกับเรื่องของกฐินประเภทต่างๆ ดังนี้

กฐินหลวง
เมื่อพระพุทธศาสนาได้เข้ามาประดิษฐานในประเทศไทยแล้ว การทอดกฐินก็ได้กลายเป็นประเพณี มาโดยลำดับ พระเจ้าแผ่นดินทรงรับเรื่องกฐินขึ้นเป็นพระราชพิธีอย่างหนึ่ง ซึ่งทรงบำเพ็ญเป็นการประจำเมื่อถึงเทศกาลทอดกฐิน การที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เกี่ยวกับกฐินเป็นพระราชพิธี จึงเรียกว่า “กฐินหลวง” วัดใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นวัดหลวง หรือวัดราษฎร์ หากพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐินแล้ว เรียกว่า “กฐินหลวง” ทั้งสิ้น

กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธี
กฐินดังกล่าวนี้ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนิน ไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เองเป็นประจำ ณ วัดสำคัญ ๆ ซึ่งทางราชการกำหนดขึ้น ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดต่างๆ ทั้ง ในกรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค จำนวน ๑๖ วัด ในกรุงเทพฯ ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์, วัดสุทัศน์เทพวราราม, วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม, วัดเทพศิรินทราวาส, วัดราชาธิวาส, วัดมกุฎกษัตริยาราม, วัดอรุณราชวราราม และวัดราชโอรสาราม
ในส่วนภูมิภาคได้แก่วัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม, วัดสุวรรณดาราราม จ.พระนครศรีอยุธยา, วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ จ.พระนครศรีอยุธยา และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก
วัดหลวงทั้งหมดนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เองในบางวัด นอกนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ หรือองคมนตรี หรือผู้ที่ทรงเห็นสมควร เป็นผู้แทนพระองค์ไปถวาย
กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธีนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวัง ออกหมายกำหนดการเป็นประจำทุกปี จึงไม่มีการจองล่วงหน้า

กฐินต้น
กฐินดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นเพราะพระเจ้าแผ่นดินเสด็จ พระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดที่มิใช่วัดหลวง และมิได้เสด็จไปอย่างเป็นทางการ หรืออย่างเป็นพระราชพิธี แต่เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์ พลตรีหม่อมทวีวงศ์ ถวัลยศักดิ์ (ม.ร.ว.เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) ได้เล่าประวัติเรื่อง การเกิดขึ้นของกฐินต้นไว้ว่า
“กฐินส่วนพระองค์นี้ ในสมัยก่อนรัชกาลที่ ๕ จะเรียกว่าอย่างไรนั้นยังไม่พบหลักฐาน มาเรียกกันว่ากฐินต้น ในรัชกาลที่ ๕ ภายหลังที่ได้มีการเสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ การเสด็จประพาสครั้งนั้น โปรดให้จัดให้ง่ายกว่าการเสด็จประพาส เพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ อย่างสามัญ คือโปรดไม่ให้มีท้องตราสั่งหัวเมืองให้จัดทำที่ประทับแรม ณ ที่ใดๆ พอพระราชหฤทัยจะประทับที่ไหน ก็ประทับที่นั่น บางคราวก็ทรงเรือเล็ก หรือเสด็จรถไฟไปโดยมิให้ใครรู้ การเสด็จประพาสครั้งนั้นเรียกว่า “เสด็จประพาสต้น”
ประพาสต้นนี่เอง ที่เป็นมูลเหตุให้เรียกการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์ว่า “พระกฐินต้น”

กฐินพระราชทาน
เป็นกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานผ้าของหลวง แก่ผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน เพื่อไปถวายยังวัดหลวง นอกจากวัดสำคัญที่ทรงกำหนดไว้ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง เหตุที่เกิดกฐินพระราชทาน เพราะว่าปัจจุบันวัดหลวงมีจำนวนมาก จึงเปิดโอกาสให้กระทรวง ทบวงกรมต่างๆ ตลอดจนคณะบุคคล หรือบุคลากรที่สมควรรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวายได้ และผู้ที่ได้รับพระราชทานจะเพิ่มไทยธรรมเป็นส่วนตัว โดยเสด็จพระราชกุศลด้วยตามกำลังศรัทธาก็ได้

กฐินราษฎร์
เป็นกฐินที่พุทธศาสนิกชน ผู้มีศรัทธานำผ้ากฐินของตนไปทอด ณ วัดต่างๆ ที่มิใช่พระอารามหลวงซึ่งตนมีศรัทธาเป็นการเฉพาะ

กฐินสามัคคี
เป็นกฐินที่มีเจ้าภาพหลายคนร่วมกัน แต่เพื่อไม่ให้การจัดงานยุ่งยากมากเกินไป ก็มักจะตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ดำเนินการแล้วมีหนังสือบอกบุญไปยังผู้อื่น กฐินสามัคคีนี้มักจะนำไปทอดยังวัดที่กำลังมีการก่อสร้าง หรือบูรณะปฏิสังขรณ์ เพื่อสมทบทุนให้สิ่งอันพึงประสงค์ของวัดสำเร็จลงได้ด้วยดี

กฐิน กาลทานที่ผูกพันธ์ศรัทธาของชาวพุทธอย่างไม่เสื่อมคลาย
ในช่วงออกพรรษา เป็นเทศกาลทอดกฐินตามพระวินัยนิยมบรมพุทธานุญาต วัดไทยแต่ละวัดไม่ว่าจะในประเทศไทย หรือ ในต่างประเทศ ญาติโยมต่างให้ความสำคัญอนุเคราะห์พระสงฆ์ส่งเสริมวินัยสงฆ์ในการรับผ้ากฐินและรับอานิสงส์กฐินตามพระบรมพุทธานุญาต
วัดไทยกรุงวอชิงตัน,ดี.ซี.ในปีนี้มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาถ้วยไตรมาศ ๑๐ รูป และได้รับผ้ากฐินสมัคคี ของคณะพยาบาลบัลติมอร์ และญาติธรรมทั่วสหรัฐอเมริกา ทอดถวายเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๕๓ นำความปลื่มปีติในบุญมายังพุทธศานิกชนทั่วหน้า




ผู้ประสงค์จะทอดกฐินควรจะทำอย่างไร ?
พุทธศาสนิกชนทั่วไปย่อมถือกันว่า การทำบุญทอด กฐินเป็นกุศลแรง เพราะเป็นกาลทาน ทำได้เพียงปีละ ๑ ครั้ง และต้องทำในกำหนด เวลาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ดังนั้น ถ้ามีความเลื่อมใสใคร่จะทอด กฐินบ้างแล้ว พึงปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

จองกฐิน เมื่อจะไปจองกฐิน ณ วัดใด พอเข้าพรรษาแล้ว พึงไปมนัสการ สมภารเจ้าวัดนั้น กราบเรียนแก่ท่านว่าตนมีความประสงค์จะขอทอดกฐิน แล้วเขียนหนังสือปิดประกาศไว้ ณ วัดนั้น เพื่อให้รู้ทั่ว ๆ กัน การที่ต้องไปจองก่อนแต่เนิ่น ๆ ก็เพื่อให้ได้ ทอดวัดที่ตนต้องการ หากมิเช่นนั้นอาจมีผู้อื่นไปจองก่อน นี้กล่าวสำหรับวัดราษฎร์ ซึ่งราษฎรมีสิทธิจองได้ทุกวัด แต่ถ้าวัดนั้นเป็นวัดหลวง อันมีธรรมเนียมว่าต้องได้รับกฐินหลวงแล้ว ทายกนั้นครั้นกราบเรียนเจ้าอาวาสท่านแล้ว ต้องทำ หนังสือยื่นต่อกองสังฆการี กรมการศาสนา กระทรวง ศึกษาธิการ ขอเป็นกฐินพระราชทาน ครั้นคำอนุญาตตกไป ถึงแล้ว จึงจะจองได้เตรียมการ ครั้นจองกฐินเรียบร้อยแล้ว เมื่อออกพรรษาแล้ว จะทอดกฐินในวันใดก็กำหนดให้แน่ นอนแล้วกราบเรียนให้เจ้าวัดท่านทราบวันกำหนดนั้น ถ้า เป็นอย่างชนบท สมภารเจ้าวัดก็บอกติดต่อกับชาวบ้านว่า วันนั้น วันนี้เป็นวันทอดกฐิน ให้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดหา อาหารไว้เลี้ยงพระ และเลี้ยงผู้มาในการกฐิน
ครั้นกำหนดวันทอดกฐินแล้ว ก็เตรียมจัดหาเครื่องผ้ากฐิน คือไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่น ๆ ตามแต่มี ศรัทธามากน้อย (ถ้าจัดเต็มที่มักมี ๓ ไตร คือ องค์ครอง ๑ ไตร คู่สวดองค์ละ ๑ ไตร)



วันงาน พิธีทอดกฐินเป็นบุญใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น โดยมากจึงจัดงานเป็น ๒ วัน วันต้นตั้งองค์พระกฐินที่บ้านของ เจ้าภาพก็ได้ จะไปตั้งที่วัดก็ได้ กลางคืนมีการมหรสพครึกครื้น สนุกสนาน ญาติพี่น้องและมิตรสหายก็มักจะมาร่วมอนุโมทนา รุ่งขึ้นเป็นที่วันทอด ถ้าไปทางบกก็มีแห่ทางขบวนรถ หรือเดินขบวนกันไป มีแตรวง หรืออื่น ๆ เป็นการครึกครื้น ถ้าไปทางเรือก็มีแห่ทางขบวนเรือสนุกสนาน โดยมากมักแห่ไปตอนเช้า และเลี้ยงพระเพล การทอดกฐินจะทอดในตอนเช้านั้นก็ได้ ทอดเพลแล้วก็ได้สุดแล้วแต่สะดวก การเลี้ยงพระถ้าเป็นอย่างในชนบท ชาวบ้านจัดภัตตาหารเลี้ยงด้วย เจ้าของงานกฐินก็จัดไปด้วย อาหารมากมายเหลือ เฟือ แม้ข้อนี้ก็สุดแต่กาลเทศะแห่งท้องถิ่น อนึ่ง ถ้าตั้งองค์กฐินในวัดที่จะทอดนั้น เช่น ในชนบทตอนเย็นก็แห่องค์พระกฐินไปตั้งที่วัด กลางคืนมีการฉลอง รุ่งขึ้นเลี้ยงพระเช้าแล้วทอดกฐิน ถวายภัตตาหารเพล



การถวายผ้ากฐิน
การถวายผ้ากฐินนั้น คือเมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อม กันแล้ว เจ้าภาพอุ้มผ้ากฐินนั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน ถ้าเป็นกฐินสามัคคีก็มักเอาด้วยสายสิญจน์โยงผ้ากฐิน เมื่อจับได้ทั่วถึงกันแล้วหัวหน้านำว่าคำถวาย ครั้นจบแล้ว พระสงฆ์รับว่า สาธุ เจ้าภาพก็ประเคนผ้าไตรกฐินแก่ภิกษุผู้เถระ ครั้นแล้วประเคนเครื่องบริขารอื่น ๆ เสร็จแล้ว พระสงฆ์ก็ทำพิธีมอบผ้าให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเถระมีจีวรเก่า รู้ธรรมวินัย ครั้นเสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดกฐินเพียงนี้

พิธีกรานกฐิน
พิธีกรานกฐินเป็นพิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะคือ ภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินนั้น นำผ้ากฐินไปทำเป็นไตรจีวรผืน ใดผืนหนึ่ง เย็บ ย้อม แห้ง เรียบร้อยดีแล้ว เคาะระฆัง ประชุมกันในโรงอุโบสถ ภิกษุผู้รับผ้ากฐิน สวดถอนผ้าเก่า อธิษฐานผ้าใหม่ที่ตนได้รับนั้นเข้าชุดเป็นไตรจีวร พระคู่สวดประกาศญัตติ ถวายผ้าแก่พระผู้ครองกฐิน และประกอบพิธีอนุโมทนากฐินเพื่อรับอานิสงส์ของพระสงฆ์ในวัด จบแล้วก็เป็นเสร็จพิธีการกรานกฐิน

อานิสงส์กฐินสำหรับพระ
ในพระวินัยระบุ อานิสงส์กฐินไว้ ๕ คือ
๑. เข้าบ้านได้โดย มิต้องบอกลาภิกษุด้วยกัน
๒. เอาไตรจีวรไป โดยไม่ครบสำรับได้
๓. ฉันอาหารเป็น คณะโภชน์ได้
๔. เก็บจีวรไว้ได้ ตามปรารถนา
๕. ลาภที่เกิดขึ้นเป็นของเธอผู้จำพรรษาในวัดนั้น



อานิสงส์กฐินสำหรับผู้ทอด
โดยทั่วไปผู้เขียนเองและแม้ผู้รู้บางท่านก็ยังไม่เคยพบ ในพระบาลีที่ระบุไว้โดยตรง แต่ว่าการทอดกฐินเป็นกาลทาน ปีหนึ่งทำได้ครั้งเดียว วัดหนึ่งทำได้ครั้งเดียวในปีหนึ่ง ๆ ต้องทำภายในกำหนดเวลา และผู้ทอดก็ต้องตระเตรียมจัดทำเป็นงานใหญ่ ต้องมีผู้ช่วยเหลือหลายคน จึงนิยมกันว่าเป็น พิธีบุญที่อานิสงส์แรง น่าคิดอีกทางหนึ่งว่า พิธีเช่นนี้ได้ทั้ง โภคสมบัติเพราะเราเองบริจาค ได้ทั่งบริวารสมบัติเพราะได้ บอกบุญแก่ญาติมิตรให้มาร่วมการกุศล กาลทานเช่นนี้ เรียกว่า ทานทางพระวินัย
ในการทอดกฐินนี้ ยังมีกฐินและข้อพิเศษที่ควรนำ มากล่าวไว้ด้วย คือ ๑. จุลกฐิน ๒. ธงจระเข้
๑. จุลกฐิน เป็นกฐินพิเศษอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า จุลกฐิน เป็นงานที่มีพิธีมาก ถือกันมาแต่โบราณว่ามีอานิสงส์มากยิ่งนัก วิธีทำนั้นคือเก็บฝ้ายมากรอเป็นด้าย และทอให้แล้วเสร็จ เป็นผืนผ้าในวันเดียวกัน และนำไปทอดในวันนั้น กฐินชนิดนี้ ต้องทำแข่งกับเวลา มีผู้ทำหลายคน แบ่งกันเป็นหน้าที่ ๆ ไป ในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยนิยมทำกันแล้ว
“วิธีทอดจุลกฐินนี้มีปรากฏในหนังสือเรื่อง คำให้การชาวกรุงเก่า ว่า บางทีเป็นของหลวง ทำในวันกลางเดือน ๑๒ คือ ถ้าสืบรู้ว่าวัดไหนยังไม่ได้รับกฐิน ถึงวันกลางเดือน ๑๒ อันเป็นที่สุดของพระบรมพุทธานุญาตซึ่งพระสงฆ์จะรับกฐินได้ในปีนั้น จึงทำผ้าจุลกฐินไปทอด มูลเหตุของจุลกฐิน คงเกิดแต่จะทอดในวันที่สุดเช่นนี้ จึงต้องรีบร้อนขวนขวาย ทำให้ทัน เห็นจะเป็นประเพณีมีมาเก่าแก่ เพราะถ้าเป็นชั้นหลังก็จะเที่ยวหาซื้อผ้าไปทอดได้ หาพักต้องทอใหม่ไม่” (จาก วิธีทำบุญ ฉบับหอสมุด หน้า ๑๑๙)
๒. ธงจระเข้ ปัญหาที่ว่าเพราะเหตุไรจึงมีธงจระเข้ ยกขึ้นในวัดที่ทอดกฐินแล้ว ยังไม่ปรากฏหลักฐาน และข้อวิจารณ์อันสมบูรณ์โดยมิต้องสงสัย เท่าที่รู้กันมี ๒ มติ คือ
๒.๑ ในโบราณสมัย การจะเดินทางต้องอาศัยดาวช่วยประกอบ เหมือนเช่นการยกทัพ เคลื่อนขบวน ในตอนจวนจะสว่างจะต้องอาศัยดาวจระเข้นี้ เพราะดาวจระเข้นี้ขึ้นในเวลาจวนจะสว่าง การทอดกฐินมี ภาระมาก บางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ฉะนั้น การดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขึ้น ก็เคลื่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี และต่อมาก็คงมีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้นก็คงทำธงทิวประดับประดาให้สวยงาม ทั้งที่องค์กฐิน ทั้งที่บริเวณวัด และภายหลังคงหวังจะให้เป็น เครื่องหมายเนื่องด้วยการกฐิน ดังนั้น จึงคิดทำธงรูปจระเข้ เสมือนประกาศให้รู้ว่าทอดกฐินแล้ว
๒.๒ อีกมติหนึ่งเล่าเป็นนิทานโบราณว่า ในการแห่กฐินไปทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่ง มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญ จึงอุตส่าห์ว่ายตามเรือไปด้วย แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดกำลังว่ายตามต่อไปอีกไม่ไหว จึงร้องบอกอุบาสกว่า เหนื่อยนักแล้ว ไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองการกุศล วานท่านเมตตา ช่วยเขียนรูปข้าพเจ้า เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วยเถิด อุบาสกผู้นั้นจึงได้เขียนรูปจระเข้ยกเป็นธง ขึ้นในวัดเป็นปฐม และสืบเนื่องมาจนบัดนี้




วิถีพุทธ : วิถีธรรมนำชีวิต

วิถีพุทธ:วิถีธรรม ณ วัดป่าอภัยคีรี

เมื่อวันอาทิตย์ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ออกตรวจเยี่ยมวัด และดูงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของภิกษุ และภิกษุณีชาวอเมริกัน นำโดย ดร.พระมหาถนัด อตฺถจารี เลขาธิการสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ บางท่านได้ร่วมเดินทางไปเยี่ยมวัด และสำนักปฎิบัติธรรมในเขตซานฟรานซิสโก คือ มีท่านเจ้าคุณพระวิเทศวิสุทธิคุณ วัดปากน้ำอเมริกา รองเลขาธิการ รูปที่๓ พระครูสิทธิธรรมวิเทศ วัดอตัมมยตาราม สาราณียกร พระสมุห์สนิท สีลสุทฺโธ วัดพุทธรังษี พระมหาโกศล วัดพุทธานุสรณ์ ซึ่งเป็นกรรมการสมัชชาสงฆ์ไทยฯ ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมสำนักปฏิบัติธรรมของพระภิกษุณี ที่สำนักอรัญญโพธิแห่งเทือกเขา Black Mountain ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองซานฟรานซิสโกขึ้นไปทางเหนือใช้เวลาขับรถประมาณ ๒.๓๐ ช.ม.

นอกจากนี้ยังได้เดินทางต่อไปเยี่ยมท่านปสันโน แห่งวัดอภัยคีรี ซึ่งเป็นศิษย์หลวงปู่ชา สุภทฺโท มาทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสในพรรษานี้ ท่านได้ถวายการต้อนรับคณะของพวกเราอย่างดี โดยได้เข้าไปสนทนาธรรมกันในศาลาปฏิบัติธรรม และเปิดโอกาสให้ ดร.พระมหาถนัด อตฺถจารี ได้สัมภาษณ์ในเรื่องลักษณะเด่นของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาทในสังคมตะวันตก ผ่านรายการ "ท่องธรรม" เพื่อเผยแผ่ออกทีวีที่ประเทศไทย (TNN 2) และออกรายการ "ธรรมะส่องโลก" Lao Champa, Nat TV. โดยคุณเจมส์ ลาว และคุณถวิล เตชะแก้ว ดำเนินรายการ

ท่านได้นำชมสถานที่สำคัญในวัดอภัยคีรี ซึ่งเป็นวัดป่าสายเถรวาท ยึดถือแนวปฏิบัติสายหลวงปู่ชา อย่างเคร่งครัด เช่นมีการเดินออกรับบิณฑบาต ในหมู่บ้านใกล้วัด และปฏิบัติศาสนกิจในวัดแบบเคร่งครัดในการนั่งสมาธิ เดินจงกรม การทำงานถือว่าเป็นการปฏิบัตธรรมทุกอิริยาบถ อยู่ด้วยการเจริญสติต่อเนื่อง

ท่านปสันโน ได้นำคณะกรรมการสมัชชาสงฆ์ไทยฯ ขึ้นไปชมกุฎิกรรมฐานบนภูเขาสูง ซึ่งได้ปลูกกุฏิแบบเดี่ยวไว้ทั้งหมดประมาณ ๑๗ หลัง และมีศาลาอเนกประสงค์หลังใหม่ซึ่งสร้างพึ่งเสร็จฉลองไปเมื่อวันเข้าพรรษานี้ (๒๕ ก.ค.) อยู่ในเขตที่พักอาศัยของพระสงฆ์(Monk only) ในอาคารหลังนี้ประกอบด้วยห้องพักพระภิกษุอาพาธ(ที่พยาบาลภิกษุไข้) ห้องตัดเย็บจีวร ห้องซักผ้า-อบบาตร ห้องประชุม และห้องครัวสำหรับอุ่นอาหาร ต้มน้ำร้อน น้ำชา เท่านั้น แล้วห้องน้ำ ซึ่งจะไม่อนุญาตให้ญาติโยมเข้าไปพลุกพล่านในเขตของสงฆ์นี้เลย เป็นกิจของสงฆ์ที่จะพึงปฏิบัติหน้าที่ตามพระธรรมวินัยเท่านั้น

ส่วนนโยบายในเรื่องการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น ท่านปสันโน ได้อธิบายเน้นในเรื่องการฝึกพระภิกษุ ให้เคร่งครัดปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จะไม่ค่อยเน้นเรื่องการอบรมญาติโยมซึ่งมีจำนวนมาก ๆ สถานที่เราก็ไม่เพียงพอก็จะสร้างความลำบาก และไม่ได้ผลในการฝึกหัดปฏิบัติเท่าไร และที่ต่างๆ สำนักอื่น ๆ เขาก็ทำกันมากแล้ว แต่ที่วัดอภัยคีรีนี้จะเน้นเรื่องการฝึกพระ ฝึกเณร ฝึกอุบาสก ให้เป็นผ้าขาว คือหลวงพ่อชาท่านได้วางกฎเกณฑ์เอาไว้ว่า ถ้าอุบาสก อยากจะมาประพฤติปฎิบัติธรรม ก็ขอให้มาฝึกปฏิบัติกับพระ คือ หาครูบาอาจารย์เสียก่อน มาฝึกหัดกาย วาจา ใจ ให้เคารพนบน้อมต่อครูบาอาจารย์เสียก่อน โดยให้นุ่งขาวห่มขาว โกนผม สมาทานศีล ๘ ปฏิบัติปัฎฐากพระสงฆ์ให้รู้ธรรมเนียมก่อนเข้ามาศึกษาเล่าเรียนให้รู้ ให้เข้าใจในระเบียบปฏิบัติก่อนในเรื่องการกิน การนอน การนุ่งการห่ม และการแสดงความเคารพตามอาวุโส ภันเต ฝึกให้อ่อนจากภายนอก เข้าไปหาภายใน คือ กาย วาจา ด้วยศีล แล้วฝึกจิตใจ ด้วยการเจริญสติ นั่งสมาธิ เดินธุดงค์
การบวชเป็นผ้าขาวก่อนให้ครบ ๑ ปี คือถ้าอดได้ ทนได้ ปฏิบัติได้ แล้วก็จะอนุญาตให้บวชเป็นสามเณร ถือศีล ๑๐ อยู่อีก ๑ ปี เมื่อฝึกหัดดัดกายวาจาใจ จนครบ ๒ ปีแล้วนั่นแหละจึงจะอนุญาตให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุได้ นี่คือระเบียบที่หลวงพ่อชา ท่านวางเอาไว้ และพวกเราที่เป็นศิษย์สายวัดหนองป่าพง ก็นำพาปฏิบัติสืบต่อกันมา และเมื่อเป็นพระภิกษุแล้วก็ต้องอยู่ปฏิบัติกับครูบาอาจารย์ จนครบ ๕ ปี จึงจะย้ายไปที่อื่น หรือ ไปพักจำพรรษาที่อื่นตามลำพังได้ คือจะต้องอยู่ปฏิบัติอุปัชฌายวัตร และให้พ้นนิสัยมุตตกะ ตามพระธรรมวินัยเสียก่อน จึงจะปลีกวิเวก หรือ ออกไปเทศนาสั่งสอนได้

นอกจากอาคารเอนกประสงค์(เฉพาะพระสงฆ์)บนยอดเขานี้แล้วก็ยังมีอุโบสถกลางแจ้ง ซึ่งเป็นสมมติสีมาไว้ให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรม เช่นอุปสมบทกรรม ปวารณากรรม และกฐินกรรม เป็นต้น ลักษณะของโบสถ์นี้ เป็นที่โล่งแจ้งใช้ไม้กระดานปูพื้นทำเป็นรูป ๘ เหลี่ยมทรงกลม มีพระประธานปางแสดงปฐมเทศนาตั้งอยู่ในซุ้มสี่เสามุงหลังคาด้วยไม้(แป้นเกล็ด)ตามแบบภาคอีสาน ซึ่งมองดูเรียบง่ายและบ่งถึงความสมถะ มีหลังคาไว้เพียงบังแสงแดดและเม็ดฝนเท่านั้น นอกนั้นก็ใช้ร่มเงาของต้นไม้เป็นธรรมชาติล้วน ๆ ไม่ให้มีสิ่งปลูกสร้างที่ใหญ่โต ประดับตกแต่งให้เกิดความสิ้นเปลืองมากเกินความจำเป็น
นี่เป็นวิถีชีวิตของพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายเถรวาท(แบบไทย)

ท่านปสันโน ได้นำคณะกรรมการสมัชชาสงฆ์ไทยฯ ขึ้นไปชมกุฎิกรรมฐานบนภูเขาสูง ซึ่งได้ปลูกกุฏิแบบเดี่ยวไว้ทั้งหมดประมาณ ๑๗ หลัง และมีศาลาอเนกประสงค์หลังใหม่ซึ่งสร้างพึ่งเสร็จฉลองไปเมื่อวันเข้าพรรษานี้ (๒๕ ก.ค.) อยู่ในเขตที่พักอาศัยของพระสงฆ์(Monk only) ในอาคารหลังนี้ประกอบด้วยห้องพักพระภิกษุอาพาธ(ที่พยาบาลภิกษุไข้) ห้องตัดเย็บจีวร ห้องซักผ้า-อบบาตร ห้องประชุม และห้องครัวสำหรับอุ่นอาหาร ต้มน้ำร้อน น้ำชา เท่านั้น แล้วห้องน้ำ ซึ่งจะไม่อนุญาตให้ญาติโยมเข้าไปพลุกพล่านในเขตของสงฆ์นี้เลย เป็นกิจของสงฆ์ที่จะพึงปฏิบัติหน้าที่ตามพระธรรมวินัยเท่านั้น
ท่านได้ถวายการต้อนรับคณะของพวกเราอย่างดี โดยได้เข้าไปสนทนาธรรมกันในศาลาปฏิบัติธรรม และเปิดโอกาสให้ ดร.พระมหาถนัด อตฺถจารี ได้สัมภาษณ์ในเรื่องลักษณะเด่นของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาทในสังคมตะวันตก ผ่านรายการ "ท่องธรรม" เพื่อเผยแผ่ออกทีวีที่ประเทศไทย (TNN 2) และออกรายการ "ธรรมะส่องโลก" Lao Champa, Nat TV. โดยคุณเจมส์ ลาว และคุณถวิล เตชะแก้ว ดำเนินรายการ

ท่านได้นำชมสถานที่สำคัญในวัดอภัยคีรี ซึ่งเป็นวัดป่ามีเนื้อที่ทั้งหมด ๒๘๐ เอเคอร์ สายเถรวาทแบบไทยยึดถือแนวปฏิบัติสายหลวงปู่ชา อย่างเคร่งครัด เช่นมีการเดินออกรับบิณฑบาต ในหมู่บ้านใกล้วัด และปฏิบัติศาสนกิจในวัดแบบเคร่งครัดในการนั่งสมาธิ เดินจงกรม การทำงานถือว่าเป็นการปฏิบัตธรรมทุกอิริยาบถ อยู่ด้วยการเจริญสติต่อเนื่อง และพระสงฆ์ทุกรูปต้องทำงานอยู่อย่างในวัดซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องรับผิดชอบในหน้าที่ให้บริการสังคม และการปฏิบัติเจริญจิตภาวนาเป็นกิจวัตรประจำวัน
วิถีพุทธ วิถีธรรม ของพระสงฆ์วัดป่ายังคมดำเนินต่อไปด้วยความเคารพศรัทธาในปฏิปทาของครูบาอาจารย์(หลวงปู่ชา) และได้นำพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาเผยแพร่สู่โลกตะวันตกเพื่อปรับวิถีชีวิตของชาวอเมริกันให้ได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา เพื่อนำสันติภาพ สันติสุขให้เกิดขึ้นในดินแดนตะวันส่วนนี้ตลอดไป






เยี่ยมชมสำนักปฏิบัติธรรมของพระภิกษุณี ที่สำนักอรัญญโพธิแห่งเทือกเขา Black Mountain ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองซานฟรานซิสโกขึ้นไปทางเหนือใช้เวลาขับรถประมาณ ๒.๓๐ ช.ม.
สำนักปฏิบัติธรรมแห่งแรกที่คณะได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม คือ สำนักปฏิบัติธรรมของภิกษุณีฝ่ายเถรวาท(อเมริกัน) ซึ่งได้รับการอุปสมบทวิธีตามแนวทางปฏิบัติของพระสงฆ์ชาวศรีลังกา ที่ให้อนุญาตการบวชจากสงฆ์สองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยนิยมบรมพุทธานุญาตไว้ แต่จะถูกจะผิดอย่างไร จะไม่ขอวิจารณ์ในแง่ของการบวชภิกษุณีในยุคปัจจุบัน
แต่จะขอกล่าวถึงสิทธิสตรี หรือ ทางเลือกของผู้หญิงในการประพฤติปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะในรูปของนักบวชหญิง แล้วพากันไปพักอาศัยป่าเป็นที่ปฏิบัติธรรมในช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้ ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะปลีกวิเวกออกจากสังคมเมืองที่มีความวุ่นวาย สับสน เกลื่อนกล่นด้วยผู้คนสารพัด
คณะนักบวชหญิง(ภิกษุณี)กลุ่มนี้นำโดยพระภิกษุณีตถาคตโลกะ เป็นสตรีชาวอเมริกัน ซึ่งเท่าที่สอบถามเธอมีความมุ่งหวังตั้งใจที่จะออกประพฤติธรรม คือ อยากบวชตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่นอายุ ๑๘-๑๙ ปี แล้ว และในที่สุดก็ได้ออกแสดงหาความจริงทางด้าน Spiritual development ตั้งแต่บรรลุนิติภาวะเป็นต้นมา ได้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมในสำนักต่าง ๆทางพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายมหายาน และฝ่ายเถรวาท โดยเฉพาะรูปแบบนักบวชหญิงในประเทศไทย คือการบวชเป็นแม่ชี สมาทานศีล ๘ ศึกษาปฏิบัติธรรมในสำนักต่าง ๆ พอสมควรแล้ว ในที่สุดก็ได้ตัดสินใจอุปสมบทเป็นภิกษุณี โดยมีท่านรัตนสาระมหาเถระ ชาวศรีลังกาบวชให้ที่วัดศรีลังกาในลอสแองเจลิส ซึ่งนับพรรษากาลได้ ปีที่ ๑๓ เข้าไปแล้ว
นอกจากภิกษุณีผู้เป็นหัวหน้าก็มีอีกท่านหนึ่งชื่อ ภิกษุณีโสมนะ ซึ่งได้รับการอุปสมบทจากท่านภันเตคุณรัตนะ หรือภันเตจี (G) แห่งสำนักปฏิบัติภาวนาโซไซตี้ เวสท์เวอร์จีเนีย และมีภิกษุณีชาวเยอรมันอีกท่านหนึ่งพึ่งบวชได้ประมาณ ๔ เดือน และมีผู้เตรียมจะบวชต่อไปอีก ๒ ท่าน
ทั้งหมดขึ้นมาอาศัยป่าไม้สน (Redwood) บนยอดภูเขา Black Mountain ห่างจากเมืองซานฟรานซิสโก ประมาณ ๒.๓๐ ชม. มาตั้งเต็นท์ ปักกลดปฎิบัติธรรมอย่างเข้มข้นปิดวาจาอยู่ในป่าที่ห่างไกลจากผู้คน และเสียงรบกวน ในระยะเริ่มแรกนี้ยังไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกอะไร ต้องใช้น้ำซับที่ไหลออกมาโคนไม้โดยใช้สายยางเสียบเข้าไปให้น้ำไหลมาลงที่แทงค์น้ำ แล้วปล่อยน้ำลงมาตามสายยางเอามาใช้ที่ทำครัวและห้องน้ำชั่วคราว และไฟฟ้าก็ยังไม่มีต้องใช้โซล่าซิสเตมคือพลังงานแสงอาทิตย์เท่าที่จำเป็นในการใช้ตู้เย็นเก็บอาหารและใช้แสงไฟเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และส่วนอาหารการฉันก็ใช้ลูกศิษย์ทำอาหารให้วันละมื้อ ไม่มีการบิณฑบาตรเพราะห่างไกลหมู่บ้าน ที่สำคัญคือต้องการที่จะมีเวลาในการปฏิบัติธรรมให้มาก ๆ
ส่วนสถานที่ตั้งแต่ละเต้นท์ก็ห่างกันระยะทางประมาณ ๑๐๐ เมตร แต่ว่าอยู่ในป่ารกชัฎซึ่งบางครั้งก็มีสัตว์ป่าออกมาปรากฎให้เห็นเป็นครั้งคราว เช่นพวกหมี หมาป่า และงู เป็นต้น ซึ่งสัตว์เหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นอุปกรณ์การฝึกสมาธิ และอยู่กันด้วยจิตเมตตาเป็นที่ตั้ง เป็นอุปกรณ์การปลูกสติ เพราะต้องระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา
การเดินทางมาเยี่ยมสำนักปฏิบัติธรรมของภิกษุณีชาวอเมริกันของคณะกรรมการสมัชชาสงฆ์ไทยฯ ในครั้งนี้เป็นการติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวในวงการพระพุทธศาสนา และเป็นการให้กำลังใจแก่สตรีผู้มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเข้าถึงซึ่งความพ้นทุกข์อีกส่วนหนึ่งด้วย ในช่วงเดือนกันยายน เป็นเดือนที่ทุกวัดในประเทศและต่างประเทศจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีชาวพุทธ ที่เกี่ยวเนื่องกับวันสำคัญสารทไทย คือ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีตามหลักในทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้ทราบถึงประวัติความเป็นมา และเนื้อหาสาระของวันสารทไทย หรือ สลากภัต ขอนำเรื่องในคัมภีร์พระธรรมบทมาเล่าให้ท่านรับฟัง ดังต่อไปนี้


พาเวร มาก่อน สลากภัต มาทีหลัง


พาเวรมาก่อนสลากภัตมาทีหลัง
สลากภัตนั้น เป็นชื่อที่เกี่ยวกับวินัยกรรมในทางพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง แต่เป็นวินัยกรรมที่เกี่ยว เนื่องกับการทำบุญกุศล และมีความเกี่ยวข้องระหว่างบรรพชิตกับคฤหัสถ์ จึงไม่มีการตั้งญัตติเหมือนวินัยกรรมบางอย่าง ในแง่ของความเป็นมานั้นมีอยู่ ๒ เรื่อง คือ ๑.) เรื่องพระเจ้าพิมพิสารทำบุญอุทิศให้แก่พระญาติของพระองค์ซึ่งเสวยภพเป็นเปรต ๒.) เรื่องนางยักษิณี เรื่องแรกนั้นมีความชัดเจนว่าทำบุญอุทิศให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้วโดยผ่านพระภิกษุสงฆ์ แต่เรื่องที่สองนั้น มีความเกี่ยวข้องกับหัวข้อที่กำลังพูดถึงอยู่ในขณะนี้พอดีนั่นก็คือเรื่องสลากภัต
เรื่องเล่าว่า.... มีพราหมณ์อยู่ตระกูลหนึ่ง ซึ่งมีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนอยู่คนหนึ่ง ธรรมดาว่าพราหมณ์นั้นจะกลัวว่าตระกูลของตนขาดสูญจึงเร่งเร้าให้ลูกชายเพียงคนเดียวนั้นแต่งงาน มีเหย้ามีเรือน เพราะกลัวว่าจะไม่มีผู้สืบวงศ์ตระกูลต่อไป แต่ฝ่ายลูกชายนั้นมีความเบื่อหน่ายการครองเรือน หวังจะออกบวชแต่พ่อแม่ไม่ยอม หนำซ้ำยังไปนำเอานางกุมารีนางหนึ่งหน้าตาสวยสดงดงาม มามอบให้แก่ลูกชายอีกด้วย ฝ่ายลูกชายปฏิเสธอย่างไรก็ไม่พ้น จึงจำใจต้องอยู่กันฉันสามีภรรยากับนางกุมารีนั้น

แต่อนิจจาลางเนื้อชอบลางยา พราหมณ์ยิ่งกลัวจะไม่มีลูกหลานสืบวงศ์ตระกูล หญิงสะใภ้ที่ตนนำมาให้แก่ลูกชายนั้นกลับเป็นหญิงหมันเสียอีก เรียกว่าผีซ้ำด้ามพลอยต่อพราหมณ์สองตายายเข้าให้แล้ว กุมารีนางนี้จึงมีชื่อว่า วัญญิตถี เพราะความที่ตนเป็นหญิงหมันไม่สามารถมีลูกให้แก่สามีได้ ข้อนี้ก็เป็นปมด้อยของสตรีเป็นความทุกข์ใจของสตรีอย่างหนึ่งด้วย
ฝ่ายพ่อแม่ของสามีก็มีความกลุ้มใจเป็นคำรบที่สองว่า หญิงสะใภ้ของตนเป็นหญิงหมันถือว่าเป็นหญิงไม่ต้องด้วยโฉลกการครองเรือนเป็นหญิงกาลกัณณี อย่ากระนั้นเลย พวกเราพากันไปหานางกุมารีคนใหม่มาให้แก่ลูกชายของเราเถิด เมื่อปรึกษากันแล้ว ก็พากันไปหากุมารีคนใหม่มาให้แก่บุตรของตนเอง ตกลงว่ามาณพน้อยนั้นกลับมีเมีย ๒ คนภายในเวลาไม่นานนัก

นางหญิงหมันภรรยาคนแรกนั้นเกิดความทุกข์ใจอย่างหนักเพราะตนไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ นางคิดว่าหากวันใดนางกุมาริกาผู้เป็นเมียน้อยนั้นตั้งครรภ์และมีลูกออกมาให้สามีและปู่ย่า (พ่อแม่ผัว) ได้เชยชมแล้ววันนั้นเขาก็จะไม่เห็นตนอยู่ในสายตา จะถูกด่าถูกว่าถูกข่มเหงน้ำใจสารพัดและในที่สุดก็จักไล่ตนเองออกจากบ้าน จักกลายเป็นหญิงหม้าย แม้คาถาในเวสสันดรชาดกก็ยังกล่าวไว้ว่า : -
นัคคา นที อนูทกา นัคคัง รัฎฐัง อราชกัง
อิตถีปิ วิธวา นัคคา ยัสสาปิ ทสะ ภาตโร
เวธัพยัง กฎุกัง โลเก คัจฉัญเญวะ รเถสะภะ.
ความว่า “แม่น้ำไม่มีน้ำก็เปล่าดาย แว่นแคว้นไม่มีพระราชาก็ไม่เลิศ แม้หญิงแม่หม้ายก็เปล่าดายแท้ แม้จะมีพี่น้องตั้ง ๑๐ คนก็ตาม ความเป็นหม้ายเป็นความเผ็ดร้อนในโลก”
เมื่อนางคิดดังนั้นแล้ว ก็เริ่มวางแผนการขึ้นในใจอยู่คนเดียวว่า เมื่อเราไม่มีลูกคนอื่นก็อย่าหวังจะมีลูกได้เลย รอยยิ้มอันเยือกเย็นปรากฏขึ้นบนริมฝีปากของนางหญิงหมันแวบหนึ่ง ก่อนจะเข้านอนในเย็นวันนั้น....
พอรุ่งเช้าของวันใหม่มาถึง หลังจากที่ว่างเว้นจากการงานในบ้านแล้ว นางวัญญิตถีผู้เป็นเมียหลวงก็พูดกับนางกุมาริกาผู้เป็นเมียน้อยด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนแสดงถึงความเป็นห่วงเป็นใยว่า นางกุมาริกานั้นโชคดี แต่พี่นั้นเป็นคนอาภัพไม่สามารถจะมีครรภ์ได้ น้องไม่โชคร้ายอย่างพี่หรอกนะ.. อย่างไรก็ตามธรรมดาว่าหญิงนั้น เมื่อเริ่มตั้งครรภ์จะเกิดอาการแพ้ท้อง จำต้องเอาใจใส่ดูแลให้ดี น้องเองอยู่ร่วมสามีอย่างนี้แล้วก็ต้องมีครรภ์แน่นอน อย่างไรเสียพี่จะคอยดูแลเอาใจใส่น้องเอง ขอให้น้องบอกพี่เวลาที่ตนแพ้ท้องก็แล้วกันนะ นางวัญญิตถีหรือนางหญิงหมันกล่าวพร้อมกับซ่อนแววอำมหิตไว้ในส่วนลึก ฝ่ายนางกุมาริกาก็พาซื่อรับปากเป็นมั่นเหมาะว่าถ้าตนแพ้ท้องเมื่อใดแล้วจะบอกให้ทราบ
กาลเวลาผ่านไปไม่นานนัก นางกุมาริกาก็บอกแก่นางวัญญิตถีว่าตนแพ้ท้องแล้ว นางวัญญิตถีกุลีกุจอหาหยูกยาบำรุงบำเรอมาให้รับประทาน แต่เป็นที่น่าเห็นใจมากเพราะนางกุมาริกาไม่รู้เลยว่า ยาที่ตนทานเข้าไปนั้น มันเป็นยาฆ่าเด็กในครรภ์ หรือยาแท้งเราดี ๆ นี้เอง นางกุมาริกาหลงกลให้แก่นางหญิงหมันได้ทานยาทำลายครรภ์เข้าไปโดยเข้าใจว่าเป็นยาบำรุงครรภ์ และแล้วนางก็ได้แท้งก่อนกำหนด แต่นางกุมาริกาก็ยังไม่รู้ว่าตนแท้งลูก เพราะทานยานั้น


กาลเวลาผ่านไปอีกหลายเดือนนางก็เริ่มตั้งครรภ์ใหม่อีก แต่คราวนี้นางกุมาริกายังไม่บอกในตอนแพ้ท้องนางมาบอกเอาก็ตอนที่ครรภ์เริ่มแก่เข้าเดือนที่ ๖ แล้วนางหญิงหมันจึงต่อว่าต่อขานว่าทำไมจึงบอกเราช้านักว่าแล้วนางก็วิ่งเข้าไปเตรียมยาทำลายครรภ์ให้แก่นางกุมาริกาทานอีก แต่ในใจของนางนั้นมีความวิตกกังวลว่ากลัวจะไม่สามารถทำยาให้ครรภ์ตกได้ เพราะเข้าสู่เดือนที่ ๖ แล้วเด็กเป็นตัวสมบูรณ์จนดิ้นได้แล้วจึงเพิ่มปริมาณยาขึ้นอีก เพราะอย่างไรเสียตนจะต้องทำลายครรภ์ของนางกุมาริกาให้ได้ คิดดังนั้นแล้ว ก็นำยาสูตรมรณะนั้นไปให้แก่นางกุมาริกาโดยอ้างว่าเป็นยาบำรุงครรภ์สูตรพิเศษเช่นเคย
ฝ่ายนางกุมาริกาก็ได้ทานยานั้นอีกโดยมิได้เฉลียวใจแม้แต่น้อย แต่เพราะความที่ครรภ์นั้นโตมากแล้วลูกในท้องของนางจึงตายคาอยู่ในอุทรนั่นเอง นางกุมาริกาเองก็เจ็บท้องสุดทรมาน สุดท้ายนางก็รู้ความจริงจนได้ว่านางหญิงหมันทำยาแท้งให้นางทานถึงสองครั้งขณะที่มีครรภ์ เพราะกลัวว่าตนจะมีลูกและลูกของตนจะได้รับทรัพย์มรดกเมื่อรู้ความจริงดังนั้นแล้ว ประกอบกับเวทนาที่กล้าแข็งแห่งชีวิตห้วงสุดท้าย นางจึงตั้งจิตอธิษฐานว่าจะเกิดมาจองล้างจองผลาญนางหญิงหมันให้ได้ แล้วนางก็สิ้นใจในตอนนั้น เพราะทนต่อความเจ็บปวดไม่ไหวบ้านเราเรียกการตายแบบนี้ว่า “ตายทั้งกลม”


อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะสิ้นใจนั้น นางได้รับรู้ถึงแผนร้ายของนางหญิงหมันจนหมด จากปากของนางหญิงหมันเอง ที่นางหญิงหมันยอมเปิดเผยความลับว่าตนประกอบยาฆ่าเด็กในครรภ์ให้นางทาน เพราะกลัวว่านางจะมีลูกเมื่อนางกุมาริกามีลูกแล้วสามีก็จะหลงรักนางกุมาริกาเพียงคนเดียว แม้ลูกที่คลอดออกมานั้น ก็จะเป็นเจ้าของสมบัติทั้งหมด เมื่อนางกุมาริกาทราบความจริงดังนั้นแล้ว นางก็รู้สึกอาฆาตนางวัญญิตถีขึ้นมาทันทีตามวิสัยของปุถุชนพร้อมความอาฆาตที่รุนแรงเช่นนั้นนางกุมาริกาจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า “ขอให้ตนได้ไปเกิดในที่ใกล้เคียงกับนางหญิงหมันด้วยเถิด เพื่อที่จะได้กินลูกของนางหญิงหมันเป็นการแก้แค้นบ้าง” ดังนี้ แล้วก็สิ้นใจไปพร้อมกับการผูกเวร
หลังจากทั้งสองได้เวียนเกิดเวียนตายอยู่หลายชาติ ในชาติที่สุดทั้งสองได้มาเกิดอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันโดยนางกุมาริกาเกิดเป็นนางแมว ฝ่ายนางวัญญิตถีหรือนางหญิงหมันได้เกิดเป็นแม่ไก่ในบ้านหลังนั้นเช่นกัน เมื่อทั้งสองเติบใหญ่ขึ้นแม่ไก่ก็ถึงคราววางไข่ ฝ่ายนางแมวก็ได้จังหวะย่องมาในขณะที่แม่ไก่กำลังหมอบวางไข่ในครั้งที่สามอยู่ จึงเกิดทะเลาะกันขึ้น แม่ไก่ก็ตัดเพ้อต่อว่านางแมวว่ามากินไข่ของตนเองจนหมดไปสองครั้งแล้ว ช่างใจร้ายยิ่งนักนางแมวก็ตอบว่ามิใช่แต่เราจะกินไข่ของเจ้าเท่านั้น แม้แต่ตัวของเจ้าเองเราก็กำลังจะกินอยู่เดี๋ยวนี้ ว่าแล้วก็โดดตระคลุบแม่ไก่ แม่ไก่หนีไม่รอดแต่ก่อนสิ้นใจนั้นได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า “เกิดชาติหนึ่งภพใดขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นผู้มีโอกาสเพื่อการได้กินซึ่งนางแมวนี้บ้าง” แล้วก็ตกเป็นอาหารของนางแมวไป
หลังจากที่ทั้งสองเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารหลายภพหลายชาติ ในภพที่สุดนางแมวก็ได้ไปเกิดเป็นแม่วัวอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ฝ่ายแม่ไก่ก็ได้ไปเกิดเป็นแม่เสือเหลืองอยู่ในป่าใกล้หมู่บ้านนั้น..เมื่อเวลาผ่านไปทั้งสองก็เติบโตขึ้นตามลำดับ นางเสือเหลืองทราบข่าวการตั้งครรภ์ของแม่วัวตลอด แต่ยังไม่ปรากฏตัว แต่เมื่อแม่วัวตกลูกเท่านั้นนางเสือเหลืองก็มากินลูกของแม่วัวเสีย แม้การตกลูกครั้งที่สองก็เช่นกัน
ในครั้งที่สามขณะที่แม่วัวกำลังคลอดลูกอยู่นั้นแม่เสือเหลืองก็มาแล้ว แม่วัวเลยพูดวิงวอนกึ่งน้อยใจว่า แม่เสือเหลืองอย่าได้กินลูกของข้าพเจ้าอีกเลยเพราะลูกของข้าพเจ้าสองตัวท่านก็กินไปแล้ว นางเสือเหลืองแทนที่จะมีเมตตากลับคำรามขึ้นว่า เจ้าไม่ต้องขอร้องซะให้ยากว่าแล้วก็ตะปบลูกน้อยของแม่วัวกินเป็นอาหาร เมื่อกินเสร็จแล้วก็พูดกับแม่วัวว่า แม้เจ้าก็จะเป็นอาหารของเราในวันนี้เช่นกัน แม่วัวตอบทั้งน้ำตาว่า ลูกของข้าพเจ้าทั้งหมดตกเป็นอาหารของท่านแล้ว บัดนี้ท่านยังจะจับข้าพเจ้ากินเป็นอาหารอีกเจ้าช่างโหดร้ายนัก อิโต จุตา สปุตตกัง ตัง ขาทิตุง ลเภยยัง ตั้งแต่นี้ต่อไปในชาติหน้า เราพึงได้เขี้ยวกินท่านพร้อมด้วยบุตรบ้างหลังจากแม่วัวกล่าวจบนางเสือเหลืองก็โดดกัดเข้าที่คอของแม่วัวทันที
ร้อยอัตภาพผ่านไป ในที่สุดนางเสือเหลืองได้มาเกิดเป็นนางกุลธิดา และแม่วัวกลับชาติมาเกิดเป็นนางยักษิณีในเมืองสาวัตถีทั้งสอง เมื่อนางกุลธิดาคลอดบุตรนางยักษิณีก็มากินลูกของนางทั้งสองคน เมื่อใกล้จะคลอดคนที่สามนางจึงกล่าวกับสามีว่า จะกลับไปคลอดบุตรที่อื่นเพื่อหลบหนีนางยักษิณีสามีก็ตามใจ ฝ่ายนางยักษิณีกำหนดวันคลอดของนางกุลธิดาแล้วก็มาหาที่บ้านแต่ไม่พบ นางยักษ์ที่จำแลงเพศนั้น ก็ถามคนที่อยู่ในละแวกนั้นว่านางกุลธิดาเพื่อนของตนไปไหนเสีย ชาวบ้านในละแวกนั้นก็บอกว่านางกลับไปคลอดลูกอยู่ที่บ้านพ่อแม่ของตน เมื่อนางยักษิณีได้ฟังดังนั้นก็รีบตามไปโดยเร็วด้วยอำนาจแห่งเวร (เวรวเสนะ)

ฝ่ายนางกุลธิดาคลอดบุตรชายคนที่สามที่น่ารักน่าใคร่แล้ว คิดว่านางยักษ์จะไม่ตามมารังควาญจึงชวนสามีกลับไปอยู่ที่บ้านพ่อแม่ผัวตามเดิม เส้นทางที่เดินกลับบ้านของพ่อแม่ผัวนั้น จะต้องผ่านสระโบกขรณีซึ่งอยู่นอกเมืองไม่ไกลนัก และเมื่อไปถึงสระน้ำดังกล่าวนั้น ฝ่ายสามีก็ปรารภว่าจะลงอาบน้ำให้สบายตนเสียก่อน เพราะเดินทางฝ่าเปลวแดดมาร้อนอบอ้าวเหลือเกินว่าแล้วก็เปลี่ยนชุดลงอาบน้ำในสระโบกขรณีนั้น ปล่อยให้ภรรยา (นางกุลธิดา) นั่งคอยอยู่บนฝั่ง ขณะที่นางกุลธิดากำลังนั่งให้ลูกน้อยดื่มนมอยู่นั้น สายตาของนางก็มอง เห็นนางยักษิณีกำลังตามมาแต่ไกล นางจึงตะโกนร้องเรียกสามี แต่สามีกำลังดำผุดดำว่ายอยู่อย่างสบายอารมณ์ ครั้นจะคอยสามีก็คงจะไม่ทันการณ์ ทั้งระยะทางจากจุดนั้นเข้าไปในเมืองสาวัตถีก็ไม่ไกลนัก นางจึงตัดสินใจอุ้มลูกน้อยวิ่งหนีนางยักษิณีเข้าไปในเมืองทันที
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคกำลังทรงแสดงธรรม แก่ภิกษุตลอดทั้งพุทธบริษัททั้งหลาย อยู่ที่ลานธรรม นางกุลธิดาได้หอบลูกน้อยวิ่งตรงเข้าสู่ลานธรรมเลยทีเดียว ฝ่ายนางยักษิณีไม่สามารถผ่านธรณีประตูเข้ามาได้เพราะเทพารักษ์ที่ซุ้มประตูไม่ยอมให้เข้ามา เนื่องจากนางมีแรงอาฆาตจองเวรอยู่ในใจมากเหลือเกิน ฝ่ายนางกุลธิดาอุ้มลูกน้อยมานั่งต่อพระพักตร์ด้วยน้ำตานองหน้าพลางกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! นางยักษิณีจักตามกินลูกน้อยของข้าพระองค์ บัดนี้ลูกน้อยของข้าพระองค์ไม่มีที่พึ่งอื่นอีกแล้ว นอกจากพระพุทธองค์เท่านั้นขอพระองค์จงประทานชีวิตให้แก่ลูกหม่อมฉันด้วยเถิดพระเจ้าข้า ว่าแล้วนางก็วางลูกน้อยพร้อมทั้งผ้าอ้อมลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคที่กำลังทอดพระเนตรดูอยู่ ภิกษุทั้งหลายพร้อมทั้งประชาชนต่างก็มองมาที่นางกุลธิดาและลูกน้อยของนางประหนึ่งว่าถูกสะกดทีเดียว
สักครู่หนึ่งพระผู้พระภาคจึงตรัสขึ้นว่า ดูก่อนอานนท์! เธอจงออกไปเรียกนางยักษ์เข้ามาข้างในเถิด เมื่อพระเถระออกไปเรียกนางยักษ์ เทวดาผู้รักษาประตูจึงยอมให้ผ่านเข้ามา และเมื่อนางยักษ์เข้ามานั่งลงทำการอภิวาทพระพุทธองค์แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เธอทั้งสองนั้นถ้าไม่มาพบกับเราตถาคตเสียในวันนี้ก็จักก่อเวรกันไปอีกหลายโกฏิกัปเหมือนกากับนกเค้า เหมือนหมีกับไม้สะคร้อ และเหมือนงูเห่ากับพังพอนฉันนั้น แล้วทรงตรัสว่า บุคคลใดยังผูกพันกันอยู่ด้วยการผูกพันแห่งเวรทำเวรต่อกันและกัน ด้วยอำนาจแห่งการด่าตอบกันไปมา ฆ่าตอบกันไปมา บุคคลนั้นจะไม่มีทางพ้นจากเวรได้เลย หนำซ้ำเขาจะถึงความทุกข์สถานเดียว ด้วยอำนาจแห่งเวรตลอดกาลเป็นนิจทีเดียว : (ปุคคโล อักโกสนัปปัจจักโกสนัปปหรณัปปฏิปปหรณาทีนัง วเสนะ อัญญมัญญัง กเตนะ เวสังสัคเคนะ สังสัฏโฐ. เวรา โส นะ ปริมุจจตีติ นิจจกาลัง เวรวเสนะ ทุกขะเมวะ ปาปุณาตีติ.)
เมื่อตรัสบทนี้แล้วก็ทรงตรัสเป็นพระคาถาว่า น หิ เวเรนะ เวรานิ สัมมันตีธะ กุทาจนัง เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร ไม่ว่าในกาลไหน ๆ ดังนี้เป็นต้น ครั้นตรัสพระธรรมเทศนาจบลง นางยักษิณีตั้งอยู่ในพระรัตนตรัยสมาทานศีล ๕ ตลอดชีวิต ฝ่ายนางกุลธิดาตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว
หลังจากที่อภิวาทพระผู้มีพระภาคทั้งน้ำตาแล้ว นางยักษิณีก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! หม่อมฉันนั้น ในกาลที่ผ่านมา แม้จับสัตว์ฆ่ากินวันละมาก ๆ ก็ยังไม่พออิ่มท้อง แต่บัดนั้นหม่อมฉันสมาทานศีลไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแล้ว จักยังชีวิตให้เป็นไปได้อย่างไรเล่าพระพุทธเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “เธออย่าโศกเศร้าไปเลยนางยักษิณีเอย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ให้เจ้าถือเสียว่านางกุลธิดาเป็นหญิงสหาย ให้เจ้าทั้งสองรักใคร่กัน มองกันด้วยสายตาที่มีแต่ความรักมีแต่ความสงสาร ให้เจ้าช่วยทำการงานในบ้านและนอกบ้าน แล้วนางกุลธิดาจักหุงหาอาหารให้แก่เจ้าเอง เจ้าไม่ต้องห่วงในเรื่องปากท้องดอก และไม่ต้องเข่นฆ่าผู้อื่นเป็นอาหารอีกต่อไป แล้วทรงตรัสต่อไปว่า : ปรทุกขูปธาเนนะ โย อัตตโน สุขมิจฉติ เวรสังสัคคสังสัฏโฐ เวรา โส นะ ปริมุจจตีติ : บุคคลใดปรารถนาความสุขเพื่อตน แต่ก่อความทุกข์ให้แก่คนอื่น บุคคลนั้นจะไม่พ้นจากเวรไปได้เลย เพราะเกือกกลั้วอยู่กับการผูกเวร ดังนี้.
เมื่อนางกุลธิดา นำนางยักษิณีมาไว้ที่บ้านแล้วก็เลี้ยงดูปูเสื่อเป็นอย่างดี ฝ่ายนางยักษิณีก็คิดว่า หญิงสหายของเราเลี้ยงดูเราดีเหลือเกิน ถ้ากระไรเสียเราควรจะหาทางช่วยหญิงสหายของเราบ้าง เมื่อคิดดังนั้นแล้วก็จับยามสามตาดูว่า ปีนี้ฝนจะน้อยหรือว่าฝนจะมาก ถ้ารู้ว่าปีนี้ฝนจะน้อย ก็บอกให้นางกุลธิดาทำนาในที่ลุ่ม ครั้นเห็นว่าปีนี้ฝนจะมาก ปริมาณน้ำมากจนท่วมในที่ลุ่ม ก็จะบอกให้นางกุลธิดาทำนาในที่สูงหรือในที่ดอน นางกุลธิดา เมื่อได้รับคำแนะนำที่ดีเช่นนั้นก็ทำนาได้ข้าวสมบูรณ์ทุกปี ซึ่งผิดกับชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ที่ปีไหนแล้งข้าวกล้าก็จะตายเพราะไม่มีน้ำ ปีไหนฝนมากข้าวก็จะตายเพราะน้ำท่วม จึงพากันนึกสงสัยว่า ทำไมนางกุลธิดาจึงทำนาได้ข้าวทุกปี ทั้งปีน้ำน้อยและปีน้ำมาก
มหาชนเหล่านั้น จึงพากันถามนางกุลธิดา ถึงเงื่อนไขที่นางกุลธิดาประสบผลสำเร็จจากการทำนานั้น นางก็บอกว่าตนมีสหายผู้หนึ่งซึ่งคอยบอกว่าปีไหนฝนจะแล้งปีไหนฝนจะตกชุก เมื่อได้รับคำแนะนำจากสหายที่แสนดีแล้ว เราก็ได้ทำตามคำแนะนำของหญิงสหายนั้น ชาวบ้านจึงพากันไปขอรับคำแนะนำจากนางยักษิณีนั้นบ้าง หลังจากที่นางกุลธิดาและชาวบ้านได้รับความสำเร็จจากการทำนาแล้ว ก็จะพากันนำข้าวปลาอาหารอันเป็นของโปรดไปให้แก่นางยักษิณีเป็นการตอบแทน และข้าวปลาอาหารที่ชาวบ้านนำไปมอบเป็นปฏิการะแก่นางยักษิณีนี้เอง อันเป็นที่มาของการเลี้ยงผีตาแฮก แรกนาขวัญ และการจัดอาหารให้แก่เจ้ากรรมนายเวรหรือที่เรียกในปัจจุบันนี้ว่า “พาเวร” ซึ่งต่างจากการทำบุญอุทิศแก่เปรตที่เป็นพระญาติของพระเจ้าพิมพิสาร
อนึ่งคำว่า “พาเวร” นี้ ก็ปรารภความที่นางยักษิณีและนางกุลธิดาได้จองเวรจองกรรมกันมาหลายร้อยอัตภาพหลายร้อยชาติแล้ว แต่ในชาติที่สุดนี้ทั้งสองได้มาเกิดในยุคที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก เธอทั้งสองมีบุญได้ฟังพระธรรมเทศนาต่อพระพักตร์ของพระองค์ เวรที่มีต่อกันจึงระงับลงได้ ทั้งสองต่างรักใคร่กลมเกลียวกัน ต่างก็อาศัยกันและกัน ปฏิการะคุณที่นางกุลธิดาและชาวบ้านมีต่อนางยักษิณีนั้น แม้ในสมัยนั้นจะยังไม่เรียกว่าพาเวร แต่ในปัจจุบันนี้ชาวบ้านทั่วไปก็เรียกกันว่า “พาเวร” หรือพาสำหรับบูชาเวรที่ระงับไปนั่นเอง ส่วนคำว่า “พา” ก็คือถาดหรือสำรับใส่อาหารใส่เครื่องเซ่นนั่นเอง
หลังจากที่ทุกฝ่ายอยู่ด้วยกันอย่างผาสุกแล้ว นางกุลธิดาก็ปรารภที่จะทำบุญด้วยการถวายสลากภัตแก่พระภิกษุสงฆ์ ๘ ที่ ทุก ๆ ๘ วันหรือทุกวันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ นั่นเอง นางจึงนำความเข้ากราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้นางทำเช่นนั้นได้ ทุกวันกำหนดที่มาถึง พระภิกษุก็จะจับฉลากเวียนกันไปเรื่อย ๆ ครั้งละ ๘ รูป ไม่ให้ซ้ำกันจนกว่าจะเวียนมาบรรจบอีกวาระใหม่ การถวายสลากภัต แก่พระภิกษุสงฆ์ จึงมีมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยประการฉะนี้
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่สมควรทำความเข้าใจอยู่อีกนิดหน่อย นั้นก็คือ ทำไมจึงทำบุญสลากภัตในเดือน ๑๐ ทำไมไม่ทำทุก ๆ ๘ วันดังที่กล่าวมา? ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า เราชาวพุทธนำเอาเรื่องสองเรื่องเข้ามารวมเป็นเรื่องเดียวกัน หมายความว่าการทำบุญวันสารทซึ่งตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ นั้น เป็นการทำบุญอุทิศปรารภเปรต ซึ่งเป็นพระญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ชาวบ้านก็เลยพากันทำบุญอุทิศให้แก่ญาติของตนเองบ้าง เพียงแต่ทำให้พิเศษกว่าการทำบุญอุทิศทั่ว ๆ ไปเท่านั้น
ถ้าทำบุญปรารภเหตุนี้จริง ๆ จะไม่มีสลากภัตเข้ามาเกี่ยวข้องเลย แต่เพราะนำเอาสลากภัตจากเรื่องนางยักษิณีมาปนกับเรื่องเปรตซึ่งเป็นพระญาติของพระเจ้าพิมพิสาร จึงกลายเป็นว่า ทำบุญสารท (ทางอีสานเรียกว่าทำบุญข้าวสาก (หรือศาก) ภาษาเขมรเรียกว่า ทำบุญโดนตา) ในเดือน ๑๐ แต่รูปแบบกลับเป็นการจับฉลากเพื่อสลากภัตซึ่งมีต้นเค้ามาจากนางกุลธิดาในเรื่องนางยักษิณี ชาวพุทธเราจึงรวมเอาคำเหล่านี้คือ : สารท สาก สลากและฉลากเข้าด้วยกัน จึงออกมาเป็นทำบุญสารทบ้าง ทำบุญข้าวสากบ้าง ทำบุญสลากภัตบ้าง โดยแต่ละชื่อถูกต้องหมด เพราะแต่ละชื่อล้วนแต่มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การทำบุญทั้งสิ้น
ภายหลังมา ก็มีผู้ฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ พระท่านก็เทศน์สั่งสอนไม่ให้งมงายเรื่องการปูนบำเหน็จแก่นางยักษิณีด้วยพาเวรมากนัก ชาวบ้านจึงเปลี่ยนทัศนคติใหม่ (ในบางท้องถิ่น) โดยจะนำเอาผลไม้ที่เก็บเกี่ยวครั้งแรกไปถวายแก่พระสงฆ์เสียก่อน ตัวเองจึงจะสามารถเก็บทาน หรือนำไปขายได้ แต่ผลไม้หัวปีที่สุกเป็นครั้งแรกนั้น จะต้องเก็บไปทำบุญเสียก่อน แม้ประเพณีอย่างนี้ ก็ปรารภนิทานสองเรื่องมารวมกันอีกเช่นกัน คือเรื่องนางยักษิณีกับเรื่องอดีตชาติของพระอัญญาโกณฑัญญะ ที่ท่านบีบเอาน้ำนมข้าวที่ตั้งท้องเป็นครั้งแรกมาทำเป็นข้าวมธุปายาสถวายแก่พระสงฆ์ เมื่อปรารภสองเรื่องนี้ ชาวพุทธจึงเก็บเอาผลไม้หัวปีมาทำบุญเสียก่อน ก่อนที่จะเก็บไปทำอย่างอื่นต่อไป
หมายเหตุ เรื่องที่เขียนนี้ ได้ขัดเกลาสำนวนไปบ้าง แต่เนื้อหามิได้เปลี่ยนไปยังคงถูกต้องตรงกันหมดทุกอย่าง มีดัดแปลงบ้างนิดหน่อย แต่มิได้บิดเบือน โดยเฉพาะเนื้อเรื่องตอนที่นางยักษิณีเป็นนางวัญญิตถีหรือหญิงหมัน นางกุลธิดาเป็นนางกุมาริกาและสมัยที่เป็นแมว เป็นแม่ไก่ เป็นแม่เสือเหลือง เป็นแม่เนื้อ ก็ได้ขัดเกลานิดหน่อยเพื่อให้สละสลวยยิ่งขึ้น เป็นบรรยากาศเล่านิทานมากขึ้น เช่นแทนที่จะบอกว่า นางแมวได้มาเกิดเป็นแม่เนื้อตามคัมภีร์ ก็บอกว่านางแมวได้มาเกิดเป็นแม่วัวดังนี้เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อที่จะให้สมเหตุสมผล เพราะว่าเมื่อพูดถึงอาหารที่เสือชอบแล้ว ก็เห็นว่าวัวจะมาเป็นอันดับหนึ่ง ดังมีคำพังเพยว่า “เล่นหมากเสือกินวัว” ดังนี้เป็นต้น



โครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในต่างแดน งานบริหารการศึกษาของพระธรรมทูต

 








โครงการสอนภาษาไทย และวัฒนธรรมไทยในต่างแดน
กับความก้าวหน้าที่ไม่หยุดยั้ง

การศึกษา เป็นกระบวนการในการพัฒนามนุษย์ทั้งในด้านจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด ความรู้ความสามารถ และทักษะต่างๆ รวมทั้งในด้านร่างกาย เพื่อให้มนุษย์สามารถแสวงหาความสุข และความเจริญก้าวหน้า ในการดำเนินชีวิต เป็นกระบวนการที่ทำให้มนุษย์สามาถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่ามีสันติสุข และสามารถเกื้อหนุนการพัฒนาประเทศชาติได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้าน พร้อมที่จะยอมรับวัฒนธรรมใหม่ แต่ไม่ลืมที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นฐานของไทย
การศึกษา เป็นกิจกรรมที่กระทำเพื่อช่วยให้ มนุษย์สามารถแสวงหาความสุข และความเจริญก้าวหน้าในการดำเนินชีวิตทั้งของตนเองและสังคมที่แวดล้อมได้ ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นกระบวนการในการพัฒนามนุษย์ทั้งในด้านจิตใจและความรู้สึกนึกคิด
วัดไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก่อกำเนิดเกิดขึ้นมาด้วยสายธารศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวไทย และชาวต่างชาติแต่ศาสนาเดียวกัน ซึ่งต้องการมีแหล่งรวมใจ หรือศูนย์รวมแห่งจิตวิญญาณ อันมีพระสงฆ์เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ และเป็นที่พึ่งทางใจแก่ชาวไทย ที่จากบ้านเกิดเมืองนอนมาใช้ชีวิตอยู่ในแดนไกล



จากจุดเริ่มต้นของชุมชนไทยในเขตกรุงวอชิงตัน, ดี.ซี.ที่ต้องการจะมีวัดไทย ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ (ค.ศ.๑๙๗๔) จนถึงปัจจุบัน มีอายุถึง ๓๗ ปีแล้ว วัดไทยฯ ดี.ซี.ได้พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งด้านวัตถุ และสิ่งที่เป็นนามธรรม คือทำหน้าที่หล่อหลอมสังคมไทย สังคมชาวพุทธในอเมริกาได้อย่างรวดเร็ว จนต้องย้ายสถานที่ประกอบศาสนกิจถึง ๒ ครั้ง และที่ปัจจุบันเป็นแห่งที่ ๓ เป็นสถานที่ที่เหมาะสม สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ชุมชน คนที่เข้ามาวัดที่มีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน เช่นเพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา เพื่อเรียนภาษาไทย และวัฒนธรรมไทย และเพื่อบำเพ็ญบุญกุศลในโอกาสต่าง ๆ
ส่วนพระสงฆ์ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณนั้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระวิเทศธรรมรังษี หรือ หลวงตาชี ได้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนมาตลอดตั้งแต่เริ่มแรก และพร้อมด้วยคณะสงฆ์พระธรรมทูตรุ่นต่อ ๆ มา ทำหน้าที่หล่อหลอมสังคมไทย ด้วยการใช้หลักพุทธธรรมนำชีวิต สร้างความมั่นใจ และมั่นคงในหลักธรรมแก่ชาวพุทธ จนทำให้สังคมชาวพุทธไทยในอเมริกามีความเป็นปึกแผ่นแน่นหนา เพราะพลังแห่งความสามัคคี อันมีวัดไทยกรุงวอชิงตัน, ดี.ซี.เป็นศูนย์กลาง



ในช่วงภาคฤดูร้อนของทุก ๆ ปี ที่วัดไทยกรุงวอชิงตัน,ดี.ซี.ได้จัดกิจกรรมให้การศึกษาเรียนรู้แก่เด็ก ๆ ที่เกิดและเติบโตในสังคมอเมริกัน เป็นภารกิจอันสำคัญในการหล่อหลอมสังคมไทยในสหรัฐอเมริกา ให้อยู่ในกรอบแห่งวัฒนธรรม ประเพณีไทย คือการจัดการศึกษาแก่เยาวชนลูกหลานไทยที่เกิดและเติบโตในสังคมที่มีความหลากหลายวัฒนธรรม โรงเรียนภาคฤดูร้อนวัดไทยกรุงวอชิงตัน,ดี.ซี. ได้รับความร่วมมือจากคณะครูอาสาสมัครจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางมาทำหน้าที่สอนภาษาไทย วัฒนธรรมไทย ร่วมกับพระธรรมทูตวัดไทยกรุงวอชิงตัน,ดี.ซี. ทุกรูป โดยมีพระเดชพระคุณ พระวิเทศธรรมรังษี (หลวงตาชี) ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ และช่วยอบรมสั่งสอนพระพุทธศาสนาเบื้องต้น เช่นการไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ แผ่นเมตตา แก่เด็ก ๆ เยาวชน ลูกหลานชาวไทยให้มีความรู้ความเข้าใจสามารถพูด ฟัง เขียน และอ่านภาษาไทยได้ ตลอดถึงการถ่ายทอดจิตสำนึกในความเป็นไทย ให้มีความเคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนา และมีความรัก ความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของความเป็นคนไทย



โครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในสหรัฐอเมริกา ของคณะครุศาสตร์ในปีนี้ได้รับความสนใจจากผู้ปกครองได้นำบุตรหลานเข้ามาเรียนภาษาไทย และวัฒนธรรมไทย มารยาทไทย เข้าใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา โดยมีข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต พ่อค้า ประชาชน ในเขตกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มลรัฐเวอร์จีเนีย และมลรัฐแมรี่แลนด์ ให้การสนับสนุน ส่งเสริมการศึกษาส่วนนี้ด้วยดีตลอดมา
ในปีการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๓ นี้ มีครูอาสาสมัครทั้งหมด ๔ คน คือ
๑. น.ส. ยุพา มาตยะขันธ์ (ครูยุ) จบปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต(จิตวิทยาการให้คำปรึกษา) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง สอนอยู่ที่โรงเรียนประชาอุทิศ(จันทาบอนุสรณ์) สำนักงานเขตดอนเมือง กรุงเพทฯ อาสาสมัครมาทำหน้าที่สอน และได้รับเลือกทำหน้าที่เป็นครูใหญ่ที่ใจดี เอาใจใส่เด็ก ๆ นักเรียนทุกระดับและมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ผู้ปกครองทุกคน ตลอดถึงได้ประสานกับเพื่อนร่วมงานคือครูทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
๒. น.ส. เสาวภา จันทร์สงค์ (ครูเอียร์) จบปริญญาโท ครุศาสตร์มหาบัณฑิต สาขานิเทศการศึกษาและพัฒนาหลักสูตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านท่ามักกะสัง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต ๒ อาสาสมัครมาเป็นครูสอนเด็กนักเรียนวัดไทยฯ ดี.ซี.ในระดับ ป.๓-ป.๔
๓. น.ส. นราภรณ์ ขันธบุตร (ครูภรณ์) เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ จบปริญญาเอก สาขาพลศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอาจารย์สอนระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ อาสาสมัครมาช่วยสอนเด็กอนุบาลของภาคฤดูร้อนที่วัดไทยฯ ดี.ซี. ซึ่งนับว่าเป็นความเสียสละอย่างสูงในการต้องมาปรับระดับความรู้จากการสอนผู้ใหญ่มาเป็นสอนเด็กเล็กที่ต้องมีความใจเย็นและรักเด็ก ๆ เป็นพื้นฐานสำคัญ
๔. น.ส. เจียมจิตร มะลิรส (ครูนุ่น) จบปริญญาโท สาขานิเทศการศึกษาและพัฒนาหลักสูตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นครูสอนที่โรงเรียนบ้านโนนสำราญ-ยางเรียน อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย ทำหน้ที่เป็นครูสอนระดับประถมต้น ของโรงเรียนวัดไทยฯ ดี.ซี.ในปีนี้ ซึ่งมีนักเรียนที่สมัครเข้ามาเรียนกันทั้งหมด ๔๒ คน ซึ่งก็แบ่งหน้าที่สอนกันอย่างลงตัว
ตลอดถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงวันเข้าพรรษามีการหล่อเทียนพรรษา และการแห่งเทียนจำนำพรรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน การจัดกิจกรรมวันแม่แห่งชาติ และจัดกิจกรรมวันครอบครัวกีฬาสัมพันธ์ ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมประเพณีไทย ตลอดถึงการละเล่นแบบไทย ๆ ด้วย



วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๓ เป็นวันมอบสัมฤทธิบัตรแด่เด็ก ๆ นักเรียนที่เรียนจบหลักสูตรของภาคฤดูร้อนปีนี้ ฯพณฯ เอกอัครราชทูต ดอน ปรมัตถ์วินัย ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานมอบสัมฤทธิบัตร และมอบรางวัลดีเด่นแก่นักเรียน พร้อมได้กล่าวปราศัยแสดงความชื่นชมยินดีกับโครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในต่างแดน โดยมีวัดไทยกรุงวอชิงตัน,ดี.ซี.เป็นศูนย์กลางให้การศึกษาเรียนรู้แบบครบวงจร จนทำให้การหล่อหลอมสังคมไทยเป็นไปแบบมีแบบแผนที่ดี ควรค่าแก่การส่งเสริมให้ยั่งยืนต่อไป
ในโอกาสนี้ได้มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ณัฐพร สุดดี จากคณะครุศาสตร์ได้เดินทางมาเป็นอาจารย์นิเทศก์โครงการฯ และร่วมเป็นสักขีพยานในวันมอบสัมฤทธิบัตรด้วย และได้กล่าวรายงานต่อประธานในพิธี ดังนี้




ในนามของคณะกรรมการโครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีโอกาสมาเยี่ยม ประเมินผลการดำเนินงานของครูอาสาสมัคร และมาร่วมในพิธีมอบสัมฤทธิบัตรแก่นักเรียนภาคฤดูร้อน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ ณ วัดไทยกรุงวอชิงตัน, ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ในวันนี้
โครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ เป็นโครงการสำคัญโครงการหนึ่งของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดร่วมกับวัดไทยในเมืองต่างๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาและวัดไทยในออสเตรเลีย โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยและภาษาไทยให้เด็ก เยาวชนไทยในต่างแดน ได้เรียนรู้เข้าใจและร่วมกันอนุรักษ์ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมไทยอันดีงามของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ในปัจจุบันโครงการนี้ได้รับความสนใจจากวัดไทยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา จำนวน ๑๑ วัด และวัดไทยในออสเตรเลียจำนวน ๑ วัด ดังนี
๑. วัดไทยลอสแองเจลิส (เริ่มปี พ.ศ. ๒๕๒๗ - ปัจจุบัน)
๒. วัดธัมมาราม ชิคาโก (เริ่มปี พ.ศ. ๒๕๓๐ - ปัจจุบัน)
๓. วัดวชิรธรรมปทีป นิวยอร์ก (เริ่มปี พ.ศ. ๒๕๓๐ - ปัจจุบัน)
๔. วัดพุทธานุสรณ์ ฟรีมอนท์ (เริ่มปี พ.ศ. ๒๕๓๑ - ปัจจุบัน)
๕. วัดไทยกรุงวอชิงตัน, ดี.ซี. (เริ่มปี พ.ศ. ๒๕๓๒ - ปัจจุบัน)
๖. วัดมงคลรัตนาราม แทมป้า (เริ่มปี พ.ศ. ๒๕๓๒ - พ.ศ. ๒๕๓๘ และ พ.ศ. ๒๕๔๒ - ปัจจุบัน)
๗. วัดพุทธวราราม เดนเวอร์ (เริ่มปี พ.ศ. ๒๕๓๒ - พ.ศ. ๒๕๓๘ และ พ.ศ. ๒๕๔๓ - ปัจจุบัน)
๘. วัดพุทธดัลลัส เท็กซัส (เริ่มปี พ.ศ. ๒๕๓๔ - ปัจจุบัน)
๙. วัดพุทธาวาส ฮิวส์ตัน (เริ่มปี พ.ศ. ๒๕๓๗ - ปัจจุบัน)
๑๐. วัดมงคลรัตนาราม ฟอร์ด วัลตัน บีช (เริ่มปี พ.ศ. ๒๕๔๔ และ พ.ศ. ๒๕๕๑ - ปัจจุบัน)
๑๑. วัดนวมินทรราชูทิศ บอสตัน (เริ่มปี พ.ศ. ๒๕๔๘ - ปัจจุบัน)
๑๒. วัดพุทธรังษี นครซิดนีย์ (ประเทศออสเตรเลีย)
ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ นี้ โครงการฯ ได้จัดส่งครูอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมการปฏิบัติธรรมประมาณ ๑ สัปดาห์ และหลักสูตรของโครงการ ๔ สัปดาห์ มาปฏิบัติงานในภาคฤดูร้อน จำนวน ๓๒ คน ประจำตามวัดไทยในสหรัฐอเมริกาต่างๆ จำนวน ๑๑ วัด และครูประจำการ ๑ ปี จำนวน ๒๕ คน ประจำตามวัดไทยในสหรัฐอเมริกา จำนวน ๘ วัด
ดิฉันในนามของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ ขอกราบขอบพระคุณพระเดชพระคุณพระวิเทศธรรมรังษี คณะสงฆ์ทุกรูป ขอบคุณกรรมการวัดไทยทุกฝ่าย และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ได้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนไทยมาโดยตลอด
ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย จงดลบันดาลให้ทุกท่านมีความสุข และประสบความสำเร็จตลอดไป



ในนามของคณะสงฆ์วัดไทยกรุงวอชิงตัน,ดี.ซี. ขออนุโมทนา และชื่นชมในความเสียสละเวลาอันมีคุณค่า และเสียสละกำลังกาย กำลังทรัพย์ และกำลังสติปัญญา อาสาสมัครมาทำงานที่วัดไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ทั้งด้านการสอนภาษาไทย และวัฒนธรรมไทยตามเจตนารมย์ของคณะครุศาสตร์ และช่วยงานวัดไทยกรุงวอชิงตัน, ดี.ซี. โดยมีหลวงตาชี เป็นผู้นำและพระธรรมทูตทุกรูป ได้ทำหน้าที่ร่วมกันสร้างสรรค์และหล่อหลอมสังคมไทย ด้วยหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมไทยอันดีงาม จนปรากฎเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจ และประทับไว้ในใจตลอดกาล
ขออนุโมทนาขอบคุณคณะกรรมการอำนวยการวัดไทยกรุงวอชิงตัน, ดี.ซี. ฝ่ายการศึกษา และคณะผู้ปกครอง ทุก ๆ ท่าน โดยเฉพาะประธาน P.T.A. ที่เอาใจใส่ช่วยเหลืองานทุกอย่าง และอนุโมทนาบุญกับทุก ๆ ท่านที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบร่วมกันได้รับความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ จนงานสำคัญนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี นำมาซึ่งความประทับใจแก่ทุกฝ่ายด้วยความปีติยินดียิ่ง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น